ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้เผยแพร่ความก้าวหน้า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยระบุว่า เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ก็คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งการส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทเอกชนผู้ร่วมทุน ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ส่งมอบพื้นที่ในส่วนนอกเมือง ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ – สนามบินอู่ตะเภา ให้เอกชน 100% แล้ว และสามารถเตรียมงานก่อสร้างได้ทันที
ส่วนการเตรียมพื้นที่ส่งมอบในเมือง ช่วงดอนเมือง – พญาไท ปัจจุบันคืบหน้า 97.21% โดยอยู่ระหว่างรื้อย้ายระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร และรื้อย้ายท่อน้ำมันของ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม 2567
หากสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2567 ก็จะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 5 ปี และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2572
แหล่งข่าวในวงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้การรถไฟฯ จะสามารถส่งมอบเส้นทางก่อสร้างนอกเมืองได้ครบ 100% ขณะที่ในเขตเมืองมีการส่งมอบพื้นที่ไปกว่า 97% แล้วก็ตาม แต่การรถไฟฯ ยังคงไม่สามารถออกหนังสือ NTP เพื่อให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการก่อสร้างได้ เนื่องจากยังคงมีปัญหาที่ต้องเจรจากันในเรื่องของการแก้ไขสัญญาในเรื่องของค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ และโครงสร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ยังไม่มีข้อยุติ จะต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และ ครม.ก่อน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เชื่อแน่ว่าแม้การรถไฟฯ จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่บริษัทได้ครบทั้งหมด แต่ก็ยังต้องมาตรวจสอบและ Declare ที่ดินที่ส่งมอบเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของที่ดินมักกะสันพื้นที่ 150 ไร่ ซึ่งตามสัญญากำหนดไว้จะต้องปลอดสิ่งกีดขวาง แต่ที่ดินสถานีมักกะสันในสภาพความเป็นจริงยังมีปัญหาเรื่องติดลำรางสาธารณะอยู่ ทำให้ยากแก่การพัฒนาโครงการ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบแนวทางการพัฒนาตามมา
นอกจากนี้ ในส่วนของโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟไทย-จีน ที่เดิมจะให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแลกกับการที่รัฐจะปรับร่นระยะเวลาการจ่ายเงินอุดหนุนการก่อสร้างโครงการ แต่คณะทำงานร่วมยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ หากท้ายที่สุดการรถไฟฯ จะดำเนินการก่อสร้างเองแล้วเรียกเงินชดเชยค่าก่อสร้างจากบริษัท ก็ยังต้องกลับมาเจรจาแก้ไขสัญญาระหว่างกันอยู่ดี
“มีแนวโน้มสูงกว่า โครงการนี้จะยังไม่สามารถเปิดหวูดเริ่มต้นก่อสร้างได้อยู่ดี เพราะทุกฝ่ายก็รู้ดีว่าสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้ว บริษัทเอกชนเองก็มีปัญหาในเรื่องของการระดมทุนก่อสร้าง จะหาแบงก์ที่ไหนมาสนับสนุนในเวลานี้ ตราบใดที่รัฐบาลเองก็ยังไม่มีความแน่ชัดในเรื่องนโยบายสนามบินว่า จะยังต้องการให้สนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินนานาชาติ แห่งที่ 3 อยู่หรือไม่ เพราะหากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมหันมาให้ความสำคัญกับการขยายศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ก็ยิ่งทำให้ความเป็นไปได้ของสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ลดลงจนอาจทำให้โครงการไม่เกิดขึ้น"