นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 ม.ค.67 ว่าเรื่องเศรฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญลำดับต้นๆ โดยจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ในระบบ การลดราคาพลังงาน เพื่อให้ค่าใช้จ่ายประชาชนลดลง และเพิ่มขีดการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า เศรษฐกิจปี 67 จะขยายตัว 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออก การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางด้านการคลัง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ผลกระทบปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคการเกษตร ท่ามกลางความเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง
โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ร้อยละ 1.7–2.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้ตัวเลขการประเมินข้างต้นอาจถูกกระทบโดยปัจจัยที่คาดไม่ถึงในอนาคต เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ราคาพลังงานผันผวน การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และปัจจัยอื่นๆ ในอนาคต
นี่คือบางตอนที่นายกฯ พูดเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณ และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 67 ที่ยังมีความเสี่ยงในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ราคาพลังงานผันผวน และภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท (ไตรมาส2/66)
หนี้สินภาคครัวเรือนที่คนไทยส่วนใหญ่สะสมกันมาเรื่อยๆ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทยโตเฉลี่ยแค่ปีละ 1.8% อยู่ในอันดับท้ายตารางของอาเซียน เพราะหลายประเทศจีดีพีโตมากกว่าไทยเกิน 2 เท่า
เมื่อจีดีพีโตน้อยมาอย่างยาวนาน จึงกดกำลังซื้อในประเทศ กดการปรับขึ้นค่าแรง ส่งผลให้รายได้โตไม่ทันค่าครองครองชีพ โตไม่ทันภาระหนี้สิน คนส่วนใหญ่ต้องทำงานหารายได้ไปใช้หนี้ มากกว่าเอารายได้ไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน
รัฐบาลนายเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศยังไม่ถึง 4 เดือน แต่ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้คนไทยไปหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดค่าครองชีพ (ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง) ช่วยแก้ปัญหาหนี้ในระบบ-หนี้นอกระบบ ช่วยผ่อนคลายกฎระเบียบให้ชาวประมงออกทะเลไปจับสัตว์น้ำได้สะดวกกว่าเก่า รวมทั้งมาตรการ “วีซ่า ฟรี” ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายประเทศ ส่งผลให้บรรยากาศการเที่ยวไทยคึกคักตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. 66 ปิดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทะลักเข้าประเทศไทยตลอดทั้งปี 66 กว่า 28 ล้านคน
ปัจจุบันแม้ว่าบรรยากาศการส่งออก-การท่องเที่ยว จะมีสัญญาณไปในทิศทางที่ดี! แต่ด้วยโครงสร้างงบประมาณ 3.480 ล้านล้านบาท แยกเป็น 1. รายจ่ายประจำ 2.532 ล้านล้านบาท 2. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361 ล้านบาท 3. รายจ่ายลงทุน 715,381 ล้านบาท 4. รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320 ล้านบาท
ส่วนวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล กำหนดไว้ที่ 693,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.63% ต่อวงเงินงบประมาณรวม หรือลดลงจากปี 66 ซึ่งมีวงเงิน 695,000 ล้านบาท จำนวน 2,000 ล้านบาท หรือลดลง 0.3% ขณะที่ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ ประเมินไว้ที่ 2.787 ล้านล้านบาท
ขณะที่หนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 ต.ค.66 คือ 11.125 ล้านล้านบาท (62.1% ของจีดีพี) โดยต้องชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320 ล้านบาท (3.4% ของงบประมาณ) และชำระคืนดอกเบี้ย 228,060 ล้านบาท (6.6% ของงบประมาณ)
โครงสร้างงบประมาณแบบนี้ ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือดัน “จีดีพี” ให้ขยับขึ้นไปสูงกว่า 4% ได้! และถ้าปี 67 จีดีพียังโตแค่ 2.7-3.7% ตามที่ สศช. ประเมินไว้ คนไทยส่วนใหญ่จึงหนีไม่พ้นกับดักความยากจน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็คงจะน้อยนิดแค่วันละ 8-22 บาท และวันละ 2-16 บาท เหมือน 2 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น เพื่อจะให้พ้นกับดักความยากจน พ้นจากสภาพรายได้ปานกลางของคนส่วนใหญ่ จึงจำเป็นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 2/67 (เม.ย.-มิ.ย.) ผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จำนวน 5 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่า ถ้ารัฐบาลทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะช่วยดันจีดีพีโตขึ้นมาอีก 1%
รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ส่งผลให้หนี้สาธารณะขยับขึ้นมานิดเดียว แต่จีดีพีทั้งปี 67 จะโตเกินกว่า 4% เรียกว่าภาระหนี้จะลดลง เพราะคนไทยมีรายได้เพิ่ม มีกำลังซื้อมากขึ้น ปัญหาการถูกกดขี่ค่าแรงเหมือนในอดีตที่ผ่านมาจะเบาบางลงไป
ถ้ามีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แล้วดัน “จีดีพี” โตเกิน 4% ใครจะปรับค่าแรงขั้นต่ำให้แค่วันละ 2-16 บาท ก็ให้มันรู้ไป!
เสือออนไลน์