คนไทยส่วนหนึ่งถูก “อคติครอบงำ” จึงรับฟังและเชื่อข้อมูลแบบผิดๆ ว่า “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นเจ้าของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่เว้นแม้แต่แม่ของ “อดีตซีอีโอ ปตท.” คนหนึ่งก็เคยเชื่อแบบนั้น
ทั้งที่บริษัท ปตท.ฯ ยังมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมใน ปตท. กว่า 62% ส่วนผู้ถือหุ้นตั้งแต่อันดับ 2-10 ไม่มีชื่อ “ทักษิณ” และคนในตระกูลชินวัตร แต่อย่างใด
เพียงแต่ “ทักษิณ” ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ช่วงปี 44-48 ได้เป็นคนริเริ่มให้มีการ “แปรรูป” ปตท. จากรัฐวิสาหกิจธรรมดาๆ ทั่วไป เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จนปัจจุบันกลุ่ม ปตท. เป็นองค์กรที่มีสินทรัพย์รวม 3.53 ล้านล้านบาท
คนไทยบางส่วนเชื่อว่าประเทศไทยมีน้ำมันดิบ-ก๊าซธรรมชาติสำรองมากกว่าประเทศซาอุดีอาระเบีย ทั้งที่ไม่ได้ดูข้อมูลบนโลกของความจริงว่า ไทยต้องนำเข้าก๊าซฯ จากประเทศเมียนมา และตะวันออกกลาง เพื่อมาป้อนโรงผลิตไฟฟ้า เนื่องจากก๊าซฯ ที่ขุดได้ทั้งบนบกและในทะเล ยังไม่พอกับความต้องการใช้งาน
ส่วนน้ำมันดิบ ปัจจุบันไทยใช้น้ำมันดิบวันละ 1 ล้านบาร์เรลเศษๆ โดยเป็นการนำเข้าถึง 90% อีก 10% ขุดได้ในประเทศ พูดง่ายๆ ว่า ขุดน้ำมันดิบในประเทศได้นิดเดียว ไม่พอใช้! แต่มีน้ำมันดิบส่งออกไปต่างประเทศด้วย
เพราะอะไร? เพราะน้ำมันดิบแต่ละแหล่ง แต่ละบ่อ ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ มีคุณสมบัติ มีส่วนผสมไม่เหมือนกัน
ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยทั้งหมด ถูกออกแบบ-วางสเปค รับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเท่านั้น และบ่อน้ำมันดิบในไทย บางบ่อโรงกลั่นก็รับ บางบ่อโรงกลั่นก็ไม่รับ จึงต้องส่งออกไปกลั่นในต่างประเทศ
รัฐมนตรีบางคนเสนอไอเดียให้ซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียที่มีราคาถูกมาก แต่เคยถามโรงกลั่นหรือยังว่าเขารับน้ำมันดิบจากรัสเซียหรือเปล่า?
คือพูดไปโดยไม่รู้ว่า โรงกลั่นในประเทศไทย เขาไม่ได้รับน้ำมันดิบได้ทุกแหล่ง
ช่วงรัฐบาลที่แล้วมีพวกคลั่งชาติ อ้างว่า ไทยสูญเสียเอกราชในอ่าวไทย (ขุดเจาะก๊าซฯ-น้ำมันดิบ) ให้บริษัทต่างชาติมากว่า 30 ปี จึงยอมไม่ได้แล้ว โดยไม่ได้คิดให้รอบด้านว่า 30-40 ปีก่อน คนไทยมีเทคโนโลยี มีความสามารถ และมีเงินลงทุนมากพอที่จะสำรวจ-ขุดเจาะพลังงานที่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นพิภพหรือเปล่า
นี่แหละจึงเป็นที่มาของนโยบายการเปลี่ยนแปลง “ระบบสัมปทาน” บริเวณแหล่งเอราวัณ (แหล่ง G1/61) มาสู่ภายใต้ระบบ “แบ่งปันผลผลิต” โดยมีการเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ แต่ผลงานที่ได้ปริมาณก๊าซฯที่ผลิตได้ในวันเปลี่ยนผ่าน คืนวันที่ 23 เม.ย.65 ได้ไม่ถึง 400 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ซึ่งต่ำกว่าสัญญาที่ตกลงไว้กับรัฐ
แต่รัฐยอมให้ผู้รับสัญญาณขยับเวลาไป 2 ปี ที่จะกลับมาผลิตก๊าซฯ ให้ได้ 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน เพื่อแก้ปัญหาการเข้าพื้นที่ล่าช้า ดังนั้นในวันที่ 23 เม.ย.67 จะครบ 2 ปี จึงต้องดูว่าแหล่ง G1/61 จะเพิ่มการผลิตก๊าซฯได้ถึง 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน หรือไม่?
ถ้าทำได้จะเป็นผลดีต่อต้นทุนราคาก๊าซฯ ที่จะไม่ต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากตะวันออกกลางที่ราคาแพงกว่า และค่อนข้างผันผวน เข้ามาแทนก๊าซฯ ส่วนที่ขาดสำหรับป้อนเข้าโรงผลิตไฟฟ้า
แต่ถ้าทำไม่ได้ตามปริมาณ ตามสัญญา ใครจะต้องรับผิดชอบกันอย่างไร? กับต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และคงจะไปอ้างเรื่องเข้าพื้นที่ล่าช้ามาเป็นเหตุผลไม่ได้อีกแล้ว โดยเรื่องนี้จะชี้ให้เห็นความผิดพลาดเชิงนโยบายในการบริหารจัดการก๊าซฯ ในอ่าวไทย สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เรื่องนี้คนในแวดวงการพลังงานทราบดีว่า ในอ่าวไทยมีเอกชนหลายรายได้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซฯ-น้ำมันดิบ และช่วงปลายๆ ของอายุสัมปทานไม่ควร “เปลี่ยนมือ” ผู้ได้รับสัมปทาน เพราะจะยุ่งยาก-เสียเวลา
ที่สำคัญก๊าซฯ อ่าวไทย ขุดกันมากว่า 30 ปี ปัจจุบันจึงเหลือน้อยแล้ว ยิ่งเหลือก๊าซฯ น้อยลงทุกวัน และสภาพทางธรณีวิทยาของอ่าวไทยมีก๊าซฯ วางตัวอยู่กระจัดกระจาย และเป็นกะเปาะๆ บ้าง การขุดเจาะยิ่งต้องใช้เทคโนโลยีสูง และต้องใช้ความสามารถ เพื่อให้ได้ปริมาณก๊าซฯ ตามที่ต้องการ
เมื่อมีผลงานออกมาแบบนี้ นั่นคือ ปลายปี 66 ยังทำได้ไม่ถึง 600 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน จึงมีคำถามตามมาว่า มีเทคโนโลยีสูงและความสามารถสูงพอหรือไม่?
จากปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเรื่องพลังงาน ซึ่งจะต้องวางแผนเกี่ยวกับนโยบายพลังงานให้มีความมั่นคงในอนาคต รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน จึงเตรียมหารือกับผู้นำประเทศกัมพูชาในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เพื่อเดินหน้าพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่มีการสำรวจว่า มีก๊าซฯ และน้ำมันดิบในปริมาณใกล้เคียงกับพื้นที่อ่าวไทยที่ขุดกันมากว่า 30 ปี หรืออาจจะมากกว่าในอ่าวไทยเสียอีก
ในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ประเทศไทยยังไม่สามารถพึ่งพาพลังงานทดแทนได้ 100% เนื่องจากพลังงานทดแทนไม่มีความเสถียรในการผลิตไฟฟ้า แต่เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ นอกจากปล่อยคาร์บอนในปริมาณน้อยแล้ว ยังช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงาน ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีความเสถียร และมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ปัจจุบันไทยมีโรงแยกก๊าซถึง 7 โรง สามารถพัฒนาไปสู่ธุรกิจต่อเนื่องทางด้านปิโตรเคมี-เม็ดพลาสติก ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท/ปี ช่วยดัน “จีดีพี” ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 1%
แต่ที่ใกล้ตัวคนไทยมากที่สุด คือ ปัญหา “ค่าไฟแพง” ถ้าหากการขุดเจาะก๊าซฯ ในอ่าวไทยยังแกว่งๆ ได้ปริมาณไม่พอกับความต้องการใช้ และไม่มีพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนฯ เข้ามารองรับในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้า คนไทยจะใช้ไฟแพงกว่านี้
เสือออนไลน์