บอร์ด กนง. มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 คงดอกเบี้ยนโยบายแบบไม่สนโลก ยันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังเติบโตได้ถึง 2.5-3% ไม่รวมมาตรการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด จึงไม่จำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยกระตุ้น
เป็นอันว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (บอร์ด กนง.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อไป แม้นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง รวมทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะออกโรงเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงก็ตามที โดย นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าที่ประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายต่อปีไว้ที่ 2.50% ต่อไป และอีก 2 เสียงเห็นควรให้ลดดอกเบี้ยง 0.25%
โดยที่ประชุม กนง. เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์หลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 และคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 2.5-3% ไม่รวม มาตรการแจกเงินหนึ่งหมื่นผ่าน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่ดีนั้น เป็นปัญหาจากทางเรื่องโครงสร้างที่กระแทก รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ได้เป็นดังคาด แม้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยพบว่า รายจ่ายต่อหัวต่อทริปลดลงและมีจำนวนวันพักที่ลดลงด้วยส่งผลต่อเนื่องมายังภาคเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังพบว่า การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ไว้อยู่แล้วก็ตาม ขณะเดียวกันพบว่า งบลงทุนก็ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ โดยเมื่อเทียบกับปี 2019 แล้วพบว่าปีนี้ต่ำกว่า 14% และหากเทียบกับรายปีพบว่าเบิกงบต่ำกว่าถึง 33% “เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง การฟื้นตัวส่งออกไทยจะช้าเพื่อนบ้านมาหลายปีทำให้การแข่งขันลดลง ทำให้ไม่ได้รับเท่าที่ควร ความสามารถการแข่งขันของไทยในต่างประเทศลดลง ในประเทศก็ลดลงเพราะนำเข้ามาสูง เช่น สินค้าจากจีนเพิ่มมขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปี มาตีตลาดบ้านเราทำให้การบริโภคในประเทศเผชิญท้าทายจากปริมาณสินค้านำเข้าโดยรวมก็เพิ่มขึ้น”
ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมกรรมการคณะกรรมการระดับระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศปี 2569 ถึงกรณีที่ กนง. ยังคงมีมติให้คงดอกดเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อไปนั้นว่า คงต้องน้อมรับ เป็นหน้าที่ของ กนง.เราไม่มีสิทธิ หน้าที่ของตนคือเค้าเขียนว่าฝ่ายรัฐบาลจะต้องทำอะไรบ้าง ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอยู่ตรงไหน แต่เมื่อผลโหวตออกมาแบบนั้น รัฐบาลไปก้าวก่ายไม่ได้
“ถ้าถามว่าเห็นด้วยไหมก็ต้องบอกว่า ไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีสิทธิไปก้าวก่ายอยู่แล้ว ทาง กนง. มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายทางการเงิน อย่างที่ผมเรียนและนายภูมิธรรมได้เรียนไปวานนี้ว่า เราอยากเห็นนโยบายการเงินการคลังไปด้วยกัน และตอนนี้ก็เงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนแล้ว”
ผู้สื่อข่าวถามว่ายังคาดหวังว่า กนง. ในครั้งหน้าจะพิจารณาปรับลดลงใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องดูตัวเลขไปเรื่อยๆ ตนก็ไม่ได้มีธงว่าต้องลดอะไร แต่ตัวเลขก็ออกมาตลอดเวลา ถ้าตัวเลขบ่งชี้ว่าไม่ต้องลด ตนก็จะออกมาบอกความเห็นของตน ก็เห็นต่าง หรือเห็นด้วย หรือเห็นสมควร หรือว่าต้องมีการโน้มน้าว หรือต้องมีการพูดคุยก็ต้องทำต่อไป
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ในกรณีมุมมองนโยบายการเงินที่จะมีการพิจารณาดอกเบี้ยของไทย โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ต่อปีต่อไปนั้น มองว่าอาจสวนทางกับความต้องการของนักลงทุนและภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากขาดแรงสนับสนุนการลงทุน ซึ่งเอกชนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แม้ในที่ประชุมจะมีความเห็นที่หลากหลาย เพราะการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ คิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะมีข้อมูลเชิงลึกและมีข้อเสนอแนะที่ดีต่อภาพรวมการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงต้องมองถึงอัตราเงินเฟ้อค่าเงินในทุกด้าน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สามารถเลี่ยงได้โดยฝั่งเอกชนจะพยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อลดความเสี่ยงให้มากที่สุด