ปัจจุบันช่วงห่างดอกเบี้ยเงินกู้-ดอกเบี้ยเงินฝากของประเทศไทยสูงมาก สูงถึง 6% ในขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่เพียง 2-3% เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้หารือและติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลง จากปัจจัยเชิงโครงสร้างนั้น หอการค้าฯรับทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณาของ กนง.
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนโดยที่ประชุม กกร. มองว่า แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 67 จะฟื้นตัวได้จากปัจจัยหนุนภาคการท่องเที่ยว แต่ยังมีความเปราะบางจากกำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัวตามเต็มที่ ภาคการผลิตมีแนวโน้มหดตัว รวมถึงยังเผชิญความเสี่ยงและความท้าทายในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์หลายปัจจัย ทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ
โดยอาจเกิดการปรับเปลี่ยนทางนโยบายสำคัญ ผลกระทบจากสงครามที่ขยายวง โดยเฉพาะอิสราเอล-ฮามาสที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่ม และกระทบกับราคาพลังงาน ปัญหาความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน และการแข่งขันกับสินค้าจีนในประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนภาคธุรกิจถูกกดดันจากดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง กระทบต้นทุนการดำเนินกิจการโดยตรง
ส่วนการกู้ยืมของประชาชนมีภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน แม้ส่วนหนึ่งมาจากการปรับลดเชิงเทคนิค ตามนโยบายการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ แต่บ่งชี้ให้เห็นถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ
ดังนั้น หอการค้าฯ จึงมีข้อเสนอแนะว่า ในระยะถัดไป กนง. ควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยลดภาระประชาชน ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีส่วนลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย รวมถึงเสนอให้มีมาตรการใหม่ๆ ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายต่อไป
ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวไม่เห็นด้วยที่ กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% เนื่องจากขณะนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ และการคงดอกเบี้ยดังกล่าวต้องรอไปอีก 3 เดือน กว่าจะมีการประชุม กนง. เพื่อพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้ง ทำให้ประชาชน-ภาคเอกชนต้องเสียดอกเบี้ยแพงไปอีก 3 เดือน
ขณะเดียวกันข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า หนี้ครัวเรือนไม่ลดลง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโดยรวมและระดับรากหญ้า
นอกจากนี้ คำชี้แจงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ปัจจุบันมีการบริโภคเพิ่มขึ้นและกลัวการปล่อยหนี้เพิ่ม หากลดดอกเบี้ยนั้น ตนเห็นต่างจาก ธปท. เพราะวันนี้ประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับกลาง-ล่างจะกู้หนี้เพิ่ม แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะธนาคารเข้มงวดปล่อยกู้กับผู้ลงทุนมากๆ แต่สิ่งสำคัญ คือ การลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดดอกเบี้ยให้ประชาชนอยู่รอด เมื่อดอกเบี้ยสูงทุกคนต้องหาเงินเพิ่มขึ้น
อีกทั้งการที่ดอกเบี้ยสูง ยังทำให้ประชาชนที่กำลังผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือกู้เงินมาลงทุน แทนที่จะหาเงินมาจ่ายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ต้องเอาไปจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เท่ากับรายจ่ายเพิ่ม แต่รายได้คงที่หรือลดลง ทำให้โอกาสที่ประชาชนจะติดลบก็เยอะขึ้น เมื่อติดลบก็กลายเป็นหนี้เสีย พอหนี้เสียก็กลายเป็นดอกเบี้ยผิดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น มีปัญหาต่อมาเป็นงูกินหาง ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม ช่วงตรุษจีนคนออกไปเดินห้างต่างจังหวัด ไปใช้จ่ายน้อยลง วันเที่ยววันจ่ายก็คึกคักน้อยลง
ตอนนี้รายได้ของประเทศเหลือแค่การท่องเที่ยวกับการลงทุน การใช้จ่ายของภาครัฐกว่าจะได้ใช้ก็เดือน พ.ค. 67 จะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมอืดลงไปเรื่อยๆ ถ้าดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจดี เงินเฟ้อสูง ไม่เป็นไร แต่วันนี้จีดีพีโตแค่ร้อยละ 1.8 และเงินเฟ้อร้อยละ 1.11 นี่คือหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เราต้องลดดอกเบี้ยลง ไม่อย่างนั้นเมื่อไหร่สภาพคล่องจะดีขึ้น
นี่คือ..เสียงสะท้อนจากภาคเอกชน เกี่ยวกับนโยบาย “ดอกเบี้ยแพง” ของ กนง. และ ธปท. ที่กำลังส่งผลกระทบกลายเป็นงูกินหางต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม และถ้าไม่ลดดอกเบี้ยลง สภาพคล่องภายในประเทศ ก็จะไม่ดีขึ้น!!
เสือออนไลน์