สัปดาห์ก่อนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลง “จีดีพี” ไตรมาส 4 ปี 66 ขยายตัวได้ 1.7% และทั้งปี 66 เศรษฐกิจไทยโตแค่ 1.9% หลังการอุปโภคภาครัฐหดตัว 3% สาขาการก่อสร้างหดตัว 8.8% การลงทุนรวมยังติดลบ 0.4% แม้การส่งออกบวกได้ 3.4% โดยคาดเศรษฐกิจไทยปี 67 จะขยายตัวได้ 2.7% ปรับลดจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2%
ตามด้วย นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทไทย เปิดเผยข้อมูลจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้เดือน ม.ค.67 มีทั้งสิ้น 142,102 คัน ลดลงจากเดือน ม.ค.66 ร้อยละ 12.46 เพราะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 33.62 จากการผลิตรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 50.89 และผลิตรถยนต์นั่งเพื่อจำหน่ายลดลงร้อยละ 14.68 จากรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าที่มียอดจดทะเบียนม.ค.67 จำนวน 13,314 คัน ขณะที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีเพียง 652 คัน แต่เพิ่มขึ้นจาก ธ.ค.66 ร้อยละ 11.96
เมื่อตัวเลข “จีดีพี” ปี 66 ออกมาแบบนั้น นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. จึงเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาค่อนข้างจะต่ำกว่าที่คาดไว้ และปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นประเด็นสำคัญในขณะนี้
นายดนุชา ยืนยันว่า ไม่ได้ถูกกดดันจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้ออกมาพูดเรื่องลดอัตราดอกเบี้ย แต่เห็นตัวเลขแล้วคิดว่า น่าจะลองพิจารณาดูเรื่องมาตรการทางการเงิน
ทางด้าน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศ ว่าธนาคารกลางไม่ได้ดันทุรังในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงในรอบทศวรรษ แต่ขอให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเติบโตเพียง 1.9% ในปี 66 ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ไปไหน ทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 67 ล่าช้า
“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณเร็วขึ้น และนั่นคือ 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้า”
ดร.เศรษฐพุฒิ ยังบอกด้วยว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤติ แต่การฟื้นตัวแม้อ่อนแอ แต่ก็ฟื้นและต่อเนื่อง
ขณะที่นายเศรษฐากล่าวหลังจากทราบว่าผู้ว่าการ ธปท. จะไม่เรียกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อปรับอัตราดอกเบี้ย ว่าเป็นสิทธิ์ของผู้ว่าการ ธปท. แต่หน้าที่ของตนคือการอธิบายความเดือดร้อนของประชาชน การที่ ธปท. เป็นหน่วยงานอิสระ และไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ซึ่งความสัมพันธ์ของตนและผู้ว่าการ ธปท. นั้น เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน การที่ตนเรียกร้องไปนั้นเป็นข้อเรียกร้องที่มีเหตุมีผล
ปัจจุบันรัฐบาลใช้นโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนงบประมาณที่คาดว่าจะสามารถใช้ได้ในเดือน พ.ค.นั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว คาดว่าจะสามารถใช้ได้ในเดือน เม.ย.นี้ ขณะเดียวกันความเดือดร้อนที่ถูกส่งมาจากผู้ว่าการ ธปท.ทั้ง 3 ข้อนั้น ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้นเลย จึงอยากเรียกร้องให้คิดถึงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย
แม้นายกฯ จะเรียกร้องไปยังผู้ว่าการ ธปท. ให้ลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้ง ก็ยังยืนยันว่า จะมีการเรียกร้องครั้งที่ 4 และ 5 ต่อไปแน่นอน เพราะเราอยู่ในสังคมที่เจริญแล้ว แม้จะมีความเห็นต่างแต่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ไม่ได้มีการทะเลาะเบาะแว้ง และยังยืนหยัดที่จะพูดคุยด้วยการใช้เหตุและใช้ผล เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจบ่งชี้อะไรหลายๆ อย่าง
ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% หากลดลงเหลือ 2.25% เพียงสลึงเดียว จะช่วยบรรเทาภาระของพี่น้องประชาชนทุกคนได้ แต่เขาไม่ลดกัน!!
เสือออนไลน์