ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โพสต์รับกระแสนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยทะลัก โดยโพสต์แนะให้ “เร่งขยายสุวรรณภูมิก่อนผู้โดยสารล้นสนามบิน” โดยระบุว่า..
น่าดีใจที่สนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นประตูหลักสู่ประเทศไทยมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ หลังจากลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงปี 2566 มีผู้โดยสาร 51.7 ล้านคน คาดว่าอีกไม่นานปริมาณผู้โดยสารจะเท่ากับปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ 65.4 ล้านคน ซึ่งเกินความจุของสนามบิน
หากไม่เร่งแก้ไข สนามบินสุวรรณภูมิจะแน่นแออัด สร้างความไม่สะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร รวมทั้งทำให้ผู้โดยสารล่าช้าเสียเวลา เป็นผลให้คุณภาพการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิลดลง อันดับของสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเทียบกับสนามบินอื่นๆ ทั่วโลก ก็อาจจะลดลง
ทั้งนี้ Skytrax ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจการบินและจัดอันดับสนามบินดีเด่นของโลกเป็นประจำทุกปี ได้จัดให้สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในอันดับที่ 68 ในปี 2566 ร่วงลงมาจากอันดับที่ 46 ในปี 2562 และอันดับที่ 10 ในปี 2553
ด้วยเหตุนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จึงต้องเร่งขยายสนามบินให้ทันกับการเพิ่มของปริมาณผู้โดยสาร ไม่ปล่อยให้ผู้โดยสารแน่นแออัด
ตามแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2536 เป็นแผนที่ยังคงทันสมัยและยังใช้งานได้ดี มีองค์ประกอบหลัก ดังนี้
(1) อาคารผู้โดยสารหรือเทอร์มินัล 2 หลัง ประกอบด้วยเทอร์มินัล 1 อยู่ทางทิศเหนือด้านมอเตอร์เวย์ และเทอร์มินัล 2 อยู่ทางทิศใต้ด้านถนนเทพรัตน (หรือถนนบางนา-ตราด)
(2) อาคารเทียบเครื่องบินรอง (Satellite หรือ SAT สำหรับให้ผู้โดยสารนั่งรอขึ้นเครื่องบิน) 2 หลัง ตั้งอยู่ระหว่างเทอร์มินัล 1 และเทอร์มินัล 2
(3) รถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือ APM) วิ่งใต้ดินเชื่อมระหว่างเทอร์มินัล 1 กับเทอร์มินัล 2 และ
(4) รันเวย์ 4 เส้น ตั้งอยู่ด้านตะวันตก 2 เส้น และด้านตะวันออก 2 เส้น
องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 120 ล้านคนต่อปี
แผนแม่บทดังกล่าวมีการวางแผนการก่อสร้างเป็นระยะๆ ดังนี้
ระยะที่ 1 สร้างเทอร์มินัล 1 สร้างรันเวย์ 1 และรันเวย์ 2 แล้วเสร็จในปี 2549 ทำให้สนามบินมีความจุ 45 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 2 ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออก สร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) และรถไฟฟ้าไร้คนขับช่วงที่ 1 (APM-1) เชื่อมระหว่างเทอร์มินัล 1 กับ SAT-1 สนามบินจะมีความจุเพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 60 ล้านคนต่อปี (45+15)
ระยะที่ 3 ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันตก สร้างรันเวย์ 3 จะทำให้สนามบินมีความจุเพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 75 ล้านคนต่อปี (60+15)
ระยะที่ 4 สร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้ สร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2) สร้างรันเวย์ 4 และรถไฟฟ้าไร้คนขับช่วงที่ 2 (APM-2) เชื่อมระหว่าง SAT-1 กับ SAT-2 รวมทั้งเชื่อมกับเทอร์มินัล 2 จะทำให้สนามบินจะมีความจุเพิ่มขึ้น 45 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 120 ล้านคนต่อปี (75+45)
ถึงเวลานี้ การก่อสร้างระยะที่ 2 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจาก ทอท.ยังไม่ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออก ทั้งๆ ที่ได้ออกแบบเสร็จแล้ว และได้รับอนุมัติผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว อันที่จริง ทอท. น่าจะฉกฉวยโอกาสขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออกในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะมีผู้โดยสารน้อย ไม่รบกวนการก่อสร้าง
แต่ก็ยังดีที่ ทอท. ได้สร้าง SAT-1 และ APM-1 เชื่อมระหว่างเทอร์มินัล 1 กับ SAT-1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566
ก่อนที่ผู้โดยสารจะล้นสนามบิน ทอท. ควรเร่งรัดเพิ่มความจุของสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บทที่วางไว้ดังกล่าวข้างต้น พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออกสนามบิน โดยเฉพาะการเดินทางเข้า-ออกสนามบินด้านทิศใต้บนถนนเทพรัตน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตามบนถนนเทพรัตน จะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ LRT) ทำให้การเดินทางเข้า-ออกเทอร์มินัล 2 ตามแผนแม่บท ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ เป็นไปด้วยความสะดวกสบาย และรวดเร็ว ทอท. ควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดรถไฟฟ้าสายนี้
นอกจากรถไฟฟ้ารางเบาบนถนนเทพรัตนแล้ว ทราบมาว่า ทอท.ได้มีการออกแบบเบื้องต้นอุโมงค์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่เวลานี้ให้บริการถึงเทอร์มินัล 1 ให้เชื่อมต่อจากเทอร์มินัล 1 ถึงเทอร์มินัล 2 ตามแผนแม่บท ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้เอาไว้แล้ว นั่นหมายความว่า อีกไม่นานก็จะมีแอร์พอร์ตลิงก์ให้บริการไปจนถึงเทอร์มินัล 2 ตามแผนแม่บท โดยวิ่งอยู่ในระดับต่ำกว่ารถไฟฟ้าไร้คนขับ หรือ APM ทำให้การเดินทางเข้า-ออกเทอร์มินัล 2 ตามแผนแม่บท ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ มีความสะดวกสบาย และรวดเร็วยิ่งขี้น
ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี อยากให้สนามบินสุวรรณภูมิได้รับการจัดอันดับให้เป็นสนามบินที่ดีอันดับต้นๆ ของโลกดังเช่นสนามบินชางงีของสิงคโปร์