“เราเสียเอกราชในพื้นที่อ่าวไทยมากว่า 30 ปีแล้ว” นี่คือชุดความคิดของบรรดาคนมีสีในยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จนนำไปสู่การไม่ต่อสัมปทานการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ แหล่งเอราวัณในอ่าวไทย ให้กับ “เชฟรอน” และเปิดประมูลใหม่เป็นระบบ “แบ่งปันผลผลิต” แล้วได้ “ปตท.สผ.” เข้ามาแทนเชฟรอน ซึ่งไม่น่าจะทำในช่วงปลายๆ ของอายุสัมปทาน ในช่วงเวลาที่ก๊าซฯ ในอ่าวไทยเหลือน้อย และขุดเจาะยากเข้าไปทุกวัน
โดยมีการส่งมอบพื้นที่ระหว่างผู้สัมปทานรายเก่ากับรายใหม่ ตั้งแต่เดือน เม.ย.65 ล่วงเลยเวลามาเกือบ 2 ปี แต่การผลิตก๊าซฯในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้ปริมาณตามสัญญา จึงส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้า ต้นทุนค่าไฟฟ้า และความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศ โดยจะอ้างเหตุผลที่ว่า “ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า” ไม่ได้แล้ว!
เนื่องจาก ปตท.สผ. ได้รับมอบพื้นที่มาตั้งแต่เดือน เม.ย. 65
แต่ต้องมีคำถามกลับไปว่า “ปตท.สผ.” ทำงานเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากน้อยแต่ไหน? หลังจากได้รับพื้นที่ดังกล่าวมาแล้ว
งานนี้บรรดาผู้เกี่ยวข้องจึงนั่งกันไม่ติด! เห็นได้จากเมื่อวันที่ 28 ก.พ.67 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน พร้อมคณะประกอบด้วย นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการและกรรมการอิสระ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แท็คทีมกันลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมความพร้อมของการผลิตก๊าซฯ โครงการจี 1/61 ในอ่าวไทย ซึ่งมีแผนจะเพิ่มการผลิตก๊าซฯ ในอัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ภายในวันที่ 1 เม.ย. 67 เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านค่าไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
ทั้งที่ตัวเลขการผลิตก๊าซฯ ในอัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ควรจะได้ตั้งแต่กลางปี 66 มาแล้ว แต่กลับล่วงเลยมาถึงเดือนมี.ค. 67 และกระทรวงพลังงานมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ จากอ่าวไทย โครงการจี 1/61 ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ให้ได้!
เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ในประเทศ ซึ่งถือเป็นแหล่งจัดหาก๊าซฯ ที่มีต้นทุนต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับแหล่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซฯ ที่นำเข้าจากเมียนมา และก๊าซฯ ที่นำเข้าในรูปของ LNG
นี่คือบทเรียนเรื่อง “นโยบายพลังงาน” ที่ผิดพลาดในสมัยรัฐบาลที่แล้วใช่หรือไม่นายพีระพันธุ์? ที่มีการเปลี่ยนมือผู้สัมปทานในช่วงปลายๆ ของอายุสัมปทาน ในช่วงเวลาที่ก๊าซฯ ในอ่าวไทยเหลือน้อยลง แถมขุดเจาะยากเข้าไปทุกวัน
เนื่องจากขุดเจาะกันจนพรุนไปหมดตลอดเวลากว่า 30 ปี แล้วที่สำคัญคือฝีมือและขีดความสามารถของผู้ได้สัมปทานรายใหม่ เมื่อเปรียบเทียนกับรายเก่า?
ล่าสุดเอาอีกแล้ว รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เตรียมการเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการกับกัมพูชา เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมกัน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต และกระตุ้นเศรษฐกิจของสองประเทศ เนื่องจากก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่ขุดกันมากว่า 30 ปี หายากและขุดได้น้อยลงไปทุกวัน จนต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากตะวันออกกลาง และส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า และราคาไฟฟ้า
เรามีตัวอย่าง ไทย-มาเลเซีย พัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมากว่า 10 ปีแล้ว (แหล่ง JDA) เอาก๊าซฯ ใต้ท้องทะเลขึ้นมาแบ่งปันกันใช้แบบ 50:50 ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่มีปัญหากระทบกระทั่ง อะไรที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน คุยกันไม่จบ ก็อย่าไปคุยกันเลย แต่ขุดก๊าซฯ ใต้พื้นพิภพขึ้นมาแบ่งกันใช้ ได้ประโยชน์กับประชาชนทั้งสองประเทศ ไม่ดีกว่าหรือ?
แต่ยังไม่ทันอะไร กลับมีบางกลุ่มคนขาประจำออกมาปั่นกระแส! ไม่ต้องการสูญเสีย “เกาะกูด” ทั้งที่เกาะกูดมีสถานะเป็น “กิ่งอำเภอ” ของ จ.ตราด มาตั้งแต่ปี 2533 และถูกยกฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่เดือน ก.ย. 2550
“เราเสียเอกราชในพื้นที่อ่าวไทยมากว่า 30 ปีแล้ว” ของพวก “มีสี” บางคน! จนมาถึงการปั่นกระแส “เกาะกูด” คนพวกนี้ถ้าไม่โง่จนกู่ไม่กลับ ก็คงจะเพี้ยนสุดๆ!!
เสือออนไลน์