กรณีการปล่อยสินเชื่ออื้อฉาว “เอนเนอร์ยี่ เอิร์ธ” ที่ใช้ตั๋ว B/L มาเบิกเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย (KTB) เพื่อชำระค่าสินค้า (ถ่านหิน) และทำสัญญาจัดหาถ่านหินล่วงหน้าจากเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย วงเงินกู้กว่า 12,000 ล้าน ที่ธนาคารร้องกล่าวโทษอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้บริหารและกรรมการบริษัทต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อ 4-5 ปีก่อน
แต่จนถึงขณะนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงไม่มีการชี้มูลความผิดและดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดและดำนินคดีกับอดีตผู้บริหารธนาคาร และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดนั้น
*ย้อนรอยคดีฉาวปล่อยกู้ทิพย์ EARTH
หากย้อนรอยที่มาที่ไปของกรณีอื้อฉาวดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2559-2560 นั้น หลังจากฝ่ายบริหารธนาคารกรุงไทยได้เข้ามาตรวจสอบธุรกรรมของ บริษัทเอนเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด(มหาชน) หรือ Earth ที่มีอยู่กับธนาคาร และพบว่า บริษัทเอิร์ธมีหนี้เงินกู้และหนี้การค้าสูงถึง 47,400 ล้านบาท จนต้องขอเข้าสู่กระบวนการทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายนั้น เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2560-2562 เมื่อฝ่ายบริหารธนาคารกรุงไทยดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมที่ Earth มีอยู่กับธนาคาร จำนวนกว่า 12,000 ล้าน และเริ่มผิดนัดชำระตั๋วชำระเงินต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2560 ไปจนกระทั่งปลายปี รวมกว่า 1,800 ล้านบาท
ก่อนที่ธนาคารกรุงไทยต้องผงะ เมื่อตรวจสอบพบว่า ใบตราส่งสินค้า (B/L) ที่ "เอิร์ธ" อ้างว่านำเป็นหลักฐานการเบิกเงินกู้จากธนาคาร เพื่อขำระค่าสินค้าถ่านหินหลายสิบฉบับเป็นเอกสารปลอม ยังความเสียหายให้แก่ธนาคารคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท
ก่อนที่ธนาคารจะเข้าร้องกล่าวโทษอดีตผู้บริหารธนาคาร เจ้าหน้าที่ และกรรมการบริษัทเอิร์ธ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ “ดีเอสไอ” เมื่อกลางเดือน มิ.ย.2562 เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ฉ้อโกงธนาคารเป็นเงินหลายพันล้านบาท เป็นการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 308 และ312 พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8 ทวิ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ธนาคารกรุงไทยฯได้รับความเสียหาย
ก่อนที่ธนาคารจะเดินหน้าร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้บริหารและกรรมการของบริษัทเอกชนรายนี้ต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบด้วยว่า เจ้าหนี้รายใหญ่ของ “เอิร์ธ” นอกจาก KTB แล้ว ยังมี ธนาคารกสิกรไทย 2,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1,800 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า 350 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้นจำนวน 2,900 ล้านบาท หนี้หุ้นกู้ 2 ชุด รวมอีกกว่า 5,500 ล้านบาท
ขณะที่ "เอิร์ธ" ได้ออกมายอมรับในภายหลัง บริษัทมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ เนื่องจากมีคู่ค้ายื่นฟ้องบริษัทต่อศาลเพื่อขอให้ชำระหนี้ คิดเป็นยอดหนี้ทั้งสิ้นกว่า 26,000 นล้านบาท ทำให้บริษัทมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 47,400 ล้านบาท เพิ่มจากหนี้สินและสินทรัพย์บริษัท ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2560 ซึ่งมีอยู่ 35,725 ล้านบาท ฝ่ายบริหารและคณะกรรมการบริษัท จึงมีมติให้นำบริษัทเข้าสู่กระบวนการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย
ในห้วงเวลาเดียวกัน สำนักงาน ก.ล.ต. ที่ได้รับรายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมอื้อฉาวที่เกิดขึ้น ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีอาญากับผู้บริหาร EARTH รวมถึงบริษัทเอกชนภายนอกรวม 17 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีร่วมกันสร้างหนี้เทียมจำนวนกว่า 26,000 ล้านบาท เพื่อให้ “เอิร์ธ” เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
หลังจาก ก.ล.ต.ได้ตรวจสอบมูลหนี้จำนวนดังกล่าวในเชิงลึกและพบว่า มูลหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจำนวน 26,000 ล้านบาท หลังจากที่บริษัทนำส่งงบการเงินงวดไตรมาส 1/2560 ไปแล้ว จนส่งผลให้สัดส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 10,349 ล้านบาทเป็นติดลบ 15,651 ล้านบาท จนทำให้คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ Earth เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัทอ้างว่า เป็นหนี้การค้าซึ่งอยู่กับหลายบริษัทนั้น
จากการตรวจสอบพบว่า ส่วนใหญ่เป็นค่าเสียหายพิเศษตามข้อตกลงในสัญญา หรือค่าเสียโอกาส ซึ่งบริษัทไม่ต้องรับผิดชอบ ขณะที่เจ้าหนี้บางรายมีการแจ้งเลิกกิจการไปแล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยเป็นการสร้าง “หนี้เทียม” เพื่อสร้างความชอบธรรมกรุยทางไปสู่การยื่นขอจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษกรรมการ อดีตกรรมการและบุคคลภายนอกที่มีส่วนร่วมดำเนินการ และมีส่วนรู้เห็น หรือสนับสนุน สร้างหนี้เทียมในครั้งนี้เรียบวุธ
* ธปท.กับ “เกียร์ว่าง” ตรวจสอบ KTB-Earth
กล่าวได้ว่า กรณี บริษัท เอนเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ใช้เอกสาร (ตั๋ว B/L) สร้าง “หนี้ทิพย์” เพื่อเบิกเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย (KTB) และยังร่วมกันสร้าง “หนี้เทียม” เพื่อลวงให้เจ้าหนี้เข้าใจผิดว่า บริษัทมีภาระหนี้สูงเกินจะเยียวยา เพื่อกรุยทางให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการขอฟื้นฟูกิจการ จนยังความเสียหายให้แก่ KTB นับหมื่นล้านนั้น
ในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแล และตรวจสอบที่เกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วนอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รวมไปถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต่างได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการตรวจสอบเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องกันไปเสร็จสิ้นแล้ว
โดย “ดีเอสไอ” ที่รับคดีเข้ามาตั้งแต่ 13 มิ.ย. 2562 ได้ดำเนินการสอบสวนก่อนส่งสำนวนผลสอบกรณีอื้อฉาวดังกล่าวไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแต่ปลายปี 2562 และยังคงมีการตรวจสอบในเชิงลึกเพิ่มเติมตามมาอีกหลายระลอก
ขณะนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบในเชิงลึกก่อนเข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญากับกรรมการ อดีตกรรมการ ตลอดจนบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาวต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ในส่วนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่แม้จะมีการจัดตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีที่มี นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ กรรมการ ป.ป.ช. ในขณะนั้น เป็นประธาน และมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ร่วมเป็นกรรมการ ได้มีการดำเนินการไต่สวนกรณีดังกล่าวไปจนถึงขั้นมีการแจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้บริหาร KTB และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้บริหาร Earth ไปร่วม 30 ราย เป็นผู้บริหารธนาคารและเจ้าหน้าที่ 20 ราย และกรรมการผู้บริหาร เอิร์ธ อีกกว่า 10 ราย
ก่อนที่เรื่องทั้งหมดจะหยุดลงไป หลังนายณัฐจักร ประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ ต้องพ้นวาระไปเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้การดำเนินการไต่สวนคดีเอิร์ธยังคงชะงักอยู่เพียงแค่นั้น ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ถือเป็นเรื่องปกติ เป็น Normal ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อยู่แล้วที่กว่าจะดำเนินการไต่สวนคดีทุจริตประพฤติมิชอบแต่ละเรื่องได้แล้วเสร็จ ก็มักใช้เวลาไต่สวนกัน “ข้ามภพข้ามชาติ” จนถูกสัพยอกว่า เป็นองค์กร ปก-ปิด-แช่ มาโดยตลอดหรือไม่?
ขนาดคดี "ปาล์มอินโด" ของบริษัท พีทีทีกรีนเอเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGE บริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร ปตท. และพีทีทีกรีนฯ ถึง 16 ราย จากการอนุมัติโครงการปลูกปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย แต่ในภายหลังตรวจพบความไม่ชอบมาพากลในการลงทุนและมีการจ่ายค่านายหน้าสูงเกินจริงกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องและมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้มาตั้งแต่ปี 2559 ผ่านมาวันนี้จะ 8-9 ปีเข้าไปแล้ว ก็ยังคืบไปไม่ถึงไหน มีเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องไปเพียง 4-5 รายเท่านั้น ยังไม่มีการชี้มูลความผิดอดีตผู้บริหาร ปตท. แต่อย่างใด
แล้วคดีอื้อฉาว Earth ที่มาทีหลังจะ “ปาดหน้า” แซงแย่งซีนปิดคดีไปได้ก่อนได้หรือ ?
แต่ในส่วนของ ธปท. ที่ถือเป็นหน่วยงานกำกับดูแลแบงก์พาณิชย์และสถาบันการเงินโดยตรง ได้มีการดำเนินการใดๆ ต่อกรณีสินเชื่ออื้อฉาว Earth ที่ว่านี้ไปแล้วบ้าง ธปท.ได้ดำเนอนการตรวจสอบเอาผิด และสั่งลงโทษผู้บริหารธนาคาร อดีตผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ตลอดจนตัวแบงก์พาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับดีนี้ และปล่อยให้เกิดช่องโหว่ปล่อยกู้ – บริหารความเสี่ยง ที่ ธปท.วางไว้ได้อย่างไร
ก็ไหนคุยนักคุยหนาว่า ธปท. มีหลักเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ที่ต้องดูแลเงินฝากประชาชนยิ่งกว่าไข่ในหิน ให้ความสำคัญกับกระบวนการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง มีอิสระในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ที่แม้แต่รัฐบาลและกระทรวงการคลังยังล้วงลูกเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงไม่ได้
แม้แต่เรื่องของอัตราดอกเบี้ยทางการเงิน และดอกเบี้ยนโยบายที่กำลังเป็นจำเลยของสังคม ที่แม้นายกฯ และรัฐบาล รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ จะร้องขอให้ ธปท. ได้พิจารณาทบทวน เรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กบง.) ได้พิจารณาทบทวนและปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงแค่ “สลึง” หรือ 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากรัฐบาลได้งัดมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจไปหมดหน้าตักแล้ว
แต่ ธปท. ยังคงแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย และเพิกเฉยต่อนโยบายของรัฐและกระทรวงการคลังในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายข้างต้น เพราะเกรงกระทบนโยบายการเงินของ ธปท. กระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุนที่ ธปท. กำกับดูแลอยู่ จนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวเอาได้
แต่กับกรณีที่แบงก์พาณิชย์ ดำเนินการให้สินเชื่อปล่อยกู้ ขนเอาเงินฝากของประชาชนไปปล่อยกู้อย่างหละหลวม กรณีการปล่อยสินเชื่อ Earth จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันการเงินนับหมื่นล้านบาท ทั้งที่การปล่อยกู้เหล่านั้นกระทำภายใต้หลักเกณฑ์อันเข้มงวดในสามโลกของ ธปท. เอง
แต่ก็กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลก จนถึงวันนี้ ธปท. ได้ดำเนินการอย่างไรไปแล้วกับกรณีอื้อฉาวที่ว่านี้ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นไต่สวนเอาผิด และฟ้องร้องเอาผิดกับผู้บริหารอดีตผู้บริหารธนาคาร และบริษัทเอกชนผู้เกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาวที่ว่านี้ไปสักรายหรือยัง? มีการตั้งแท่นฟ้องร้องเอาผิด และเรียกค่าเสียหาย เรียกเงินฝากประชาชนจากอดีตผู้บริหารธนาคาร เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนในส่วนของบริษัทเอกชนที่ร่วมกัน “ไซฟ่อน” เงินก้อนนี้ออกไปจากธนาคารับคืนมาสักบาท หรือสักสตางค์แดงบ้างหรือยัง?
หากจนถึงวันนี้ ปท.ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ แล้ว แล้วเราจะหน่วยงานอิสระที่ว่านี้ไว้เพื่อ???
…
หมายเหตุ:อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม..
-เนตรทิพย์: Columnist
จากวิวาทะ “ดอกเบี้ยนโยบาย”... ถึง “เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ”... บทสะท้อนการทำงาน (อันทรงประสิทธิภาพ) ธปท. (ตอนที่ 1)
http://www.natethip.com/news.php?id=8060