ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เพจกรุงเทพมหานคร โพสต์ระบุว่า เปิดข้อดี ปลดหนี้ BTS คนกรุงเทพฯ ได้อะไร เมื่อ กทม. จ่ายหนี้ 2.3 หมื่นล้าน? ทำไม กทม. ต้องจ่ายหนี้ หนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?
โดยหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยาย 2 จุดที่เกิดจากการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อปี พ.ศ. 2560 คือ ส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง, สะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ, หมอชิต-คูคต
ทั้งนี้ ผลดีของการจ่ายหนี้ 2.3 หมื่นล้าน ต่อการพัฒนาการคมนาคมกรุงเทพฯ โดยกรุงเทพมหานครได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในระบบไฟฟ้าเครื่องกล (E&M) อย่างถูกต้อง ไม่เกิดปัญหาการโต้แย้งความเป็นเจ้าของกับเอกชน และลดความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องและการคิดดอกเบี้ยผิดนัด เช่นเดียวกับค่าจ้างเดินรถ (O&M) รวมถึงกรุงเทพมหานครจะมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นในการจัดการเดินรถเนื่องจากเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และสามารถลดภาระค่าดอกเบี้ยในการจัดหา ตามสัญญาจ้างติดตั้งระบบเดินรถ ซึ่งมีค่าดอกเบี้ยประมาณวันละ 3 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การจ่ายหนี้มีผลต่อการปรับลดค่าโดยสารหรือไม่?
ซึ่งการจ่ายหนี้ดังกล่าวเป็นค่าจ้างงานติดตั้งระบบเดินรถ “ไม่มีผลต่อค่าโดยสารในปัจจุบัน” เนื่องจากเป็นเงินที่ค้างชำระตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560
เมื่อจ่ายหนี้ครบแล้ว กทม. จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและไม่ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย ผิดนัดอีกในอนาคต หากต้องมีการทำสัมปทานใหม่ กทม. จะมีอำนาจในการเจรจาต่อรองอัตราค่าโดยสารกับผู้รับสัมปทานได้
การชำระหนี้ 2.3 หมื่นล้านบาท เป็นการปลดล็อกศักยภาพของโครงข่ายขนส่งสาธารณะ ทั้งยังช่วยให้ กทม. มีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการจัดการเดินรถ และการพัฒนาโครงการอื่น ๆ เพื่อให้กรุงเทพฯ มุ่งสู่เมืองที่ระบบขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพ เพื่อความสะดวกสบายของชาวกรุงเทพฯ ทุกคน