ถึงเวลาต้องมีการปฏิรูป-สังคายนากระทรวงอุตสาหกรรม ครั้งใหญ่กันแล้วหรือยัง? น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม และนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
หลังจากเมื่อวันที่ 22 มี.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เชิญ น.ส.พิมพ์ภัทรา และข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากภาคธุรกิจ และนักลงทุนว่ามีความล่าช้าในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ที่ค้างพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก
โดยนายกฯ เศรษฐา ขอให้ รมว.อุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดในกระบวนการขออนุญาต เพราะมีหลายขั้นตอนที่ไม่จำเป็น บางขั้นตอนขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ อาจนำไปสู่การเกิดคอร์รัปชั่นได้ ขอให้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุนทั้งจากนักลงทุนภายในประเทศ และจากต่างประเทศ
ต่อมาก็มีเรื่อง “กากแคดเมี่ยม” ประมาณ 13,800 ตัน ถูกขนย้ายจาก จ.ตาก มาเก็บไว้ที่โกดังใน จ.สมุทรสาคร-ชลบุรี-กรุงเทพฯ แบบไม่ได้ซ่อนเร้นปกปิดอะไรมากมาย โดยกากแร่แคดเมียมดังกล่าวเป็นของเสียอันตรายจากการทำเหมือง แล้วมีการ “ฝังกลบ” ปิดบ่อไปเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 61 ตามข้อกำหนดมาตรการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยสถานที่ฝังกลับตั้งอยู่ในโครงการโรงถลุงสังกะสี ของบริษัทเอกชนชื่อดัง บนพื้นที่ 2,500 ไร่ ในจ.ตาก
คำถามของผู้คนในสังคมไทย คือ เมื่อมีการ “ฝังกลบ” ไปแล้ว! ยังไปขุดกันขึ้นมาทำไม? ใครมีอำนาจในการอนุญาตให้เอกชนขุดขึ้นมา! หน่วยงานไหน? มีอำนาจออกใบอนุญาตขนย้ายกากแคดเมี่ยมจำนวนมากมาที่สมุทรสาคร-กรุงเทพฯ-ชลบุรี
จากข้อมูลทราบว่า กากแร่แคดเมี่ยมจำนวนนี้ ดำเนินการขออนุญาตโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้รับอนุญาตขุดและขนย้ายกาก เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.66 เริ่มขนย้ายเดือน ก.ค.66 และขนย้ายเที่ยวสุดท้ายออกจากพื้นที่เมื่อวันที่ 8 ม.ค.67 รวมระยะเวลาขนย้ายกว่า 8 เดือน
แต่กลับมีการขุด-ขนย้ายกากแร่แคดเมียม ไปขายต่อ! ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ในสัญญาซื้อขาย เพราะบริษัทมีใบอนุญาตกำจัด และสัญญาซื้อขายระบุว่า “ซื้อมากำจัด” เพราะผู้ต้องหาที่เข้ามอบตัวก็ยอมรับว่า ตอนแรกพยายามส่งออกไปหลอมที่ประเทศลาว โดยมีคนจีนรอรับซื้อ มีบริษัทที่สามารถแยกแคดเมียม ทองแดง และสังกะสีได้ แต่ปรากฏว่ามีคนจีนติดต่อมาซื้อกากแคดเมียม 5,000 ตัน จึงขายให้กิโลกรัมละ 8.25 บาท และส่งรถมารับเพื่อนำไปไว้ที่ชลบุรี หลังจากนั้นพบว่าคนจีนดังกล่าวพยายามขายต่อให้คนอื่นอีกทอดหนึ่ง
ดังนั้น น.ส.พิมพ์ภัทรา และนายณัฐพล จึงต้องตรวจสอบอย่างละเอียด ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดบ้าง? ไล่ตั้งแต่ระดับ “อุตสาหกรรมจังหวัด” ทั้งในอดีต-ปัจจุบัน ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในอดีต-ปัจจุบัน รวมทั้งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในอดีต-ปัจจุบัน
ประเด็นสำคัญมาก คือ ต่อไปนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม-กรมโรงงานฯ ต้องเข้มงวดกวดขันเรื่องการออกใบอนุญาต-ต่อใบอนุญาตให้โรงงานผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย ประเภท 101, 105, 106 อย่าออกใบอนุญาต-ต่อใบอนุญาตให้กับโรงงานไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากโรงงานที่เป็นต้นทาง “กากของเสีย” ย่อมต้องการโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานพวกนี้มากำจัดกากของเสีย เพราะเสียค่าใช้จ่ายในราคาถูก
แล้วโรงงานไม่ได้มาตรฐาน-รับงานในราคาถูกๆ มักจะนำ “กากของเสีย” ไปกำจัดแบบไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้กำจัด! แต่เอาไปฝังกลบ หรือนำไปเก็บไว้ในโกดังทั่วไป (เมื่อมีเรื่องราวขึ้นมาก็เผาโกดังทำลายหลักฐานไว้ก่อน) บ้างก็อาจจะแอบขนไปทิ้งตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่าของประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่
วันนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา และนายณัฐพล ควรตรวจสอบ ว่าโรงงานต้นทางกากของเสีย-ผู้ขนย้าย-คนกำจัดกากของเสีย ต้องจ่าย “เงินค่าตอบแทนพิเศษ” สำหรับใบอนุญาตเป็นใบๆ ไป! จริงหรือไม่? ปัจจุบันทั้งรัฐมนตรี+ทีมงาน กับข้าราชการประจำในกระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานเป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่?
เสือออนไลน์