ข้าวสารล็อตสุดท้ายของโครงการรับจำข้าว ยังเหลืออยู่ที่โกดังใน จ.สุรินทร์ ประมาณ 15,000 ตัน เป็นข้าวสารหอมมะลิ 100% จากปีการผลิต 56/57 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้เปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นซองเอกสารคุณสมบัติก่อนประมูลซื้อข้าวหอมมะลิจำนวนดังกล่าวออกไป
ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.67 มีเอกชน 8 ราย เข้ายื่นซองแล้ว คือ 1. บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จ.กำแพงเพชร 2. บริษัท ธนสรร ไรซ์ จ.ชัยนาท 3. หจก.อุบลไบโอเกษตร จ.อุบลราชธานี 4. บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) จ.อุบลราชธานี 5. บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อา.การเกษตร จ.นครสวรรค์ 6. บริษัท ทรัพย์แสงทอง จ.สุพรรณบุรี 7. บริษัท สหธัญ จ.นครปฐม 8.บริษัท บีเอ็นเค การเกษตร 2024 จ.นครสวรรค์
หลังจากนี้ อคส.จะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอซื้อและประกาศรายชื่อ ผู้เสนอซื้อที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ในวันที่ 13 มิ.ย.67 เวลา 09.00 น. ทาง www.pwo.co.th ของ อคส. จากนั้นให้ผู้เสนอซื้อที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ยื่นซองเสนอซื้อได้ในวันที่ 17 มิ.ย.67 ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. ที่ อคส.
เบื้องต้นคาดว่าจะมีเอกชน 3-4 ราย แข่งขันสู้ราคากันอย่างดุเดือด และ อคส.น่าจะขายข้าวสารหอมมะลิอายุ 10 ปี ล็อตนี้ได้ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 20 บาท
เอาเป็นว่าไม่ต้องถึง กก.ละ 20 บาท แค่ กก.ละเกิน 10 บาทขึ้นไป ก็ตบหน้ารัฐบาล คสช. (ปี 58-61) แล้ว!
เนื่องจากยุคนั้นมีการระบายข้าวสาร 18 ล้านตัน อย่างไม่โปร่งใสในหลายขั้นตอน ตั้งแต่การเอากุญแจโกดังมาเก็บไว้เอง ใช้พลทหารไปสุ่มตรวจข้าว มีการจัดเกรดข้าวเป็นข้าวเกรดซี (ข้าวอาหารสัตว์) มากถึง 12 ล้านตัน เพื่อขายในราคาถูก กก.ละ 3-4 บาท จากนั้นคนที่ประมูลซื้อไปก็นำข้าวไปขัดสีฉวีวรรณ หมุนกลับมาขายเป็นข้าวถุง (ข้าวคนกิน) กก.ละกว่า 10 บาท
หนักไปกว่านั้นคือเจ้าหน้าที่รัฐในยุครัฐบาล คสช. ยังยัดคดีปักหลักเจ้าของโกดังที่เก็บข้าวสารไว้ ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยกล่าวว่าเก็บข้าวสารไม่ดี ข้าวเสียหาย และมีข้าวสารหายไปจากโกดัง
ปัจจุบันปี 67 เจ้าของโกดังเหล่านี้ทยอยหลุดรอดคดี ตั้งแต่อัยการสั่งไม่ฟ้องทางคดีอาญา ขณะที่ศาลปกครองก็ทยอยยกฟ้องคดีทางแพ่ง
ดังนั้น เจ้าของโกดังประมาณ 40 คน จึงไปยื่นเรื่องร้องเรียนไว้กับ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้สอบสวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวสารในปี 58-61 และการตรวจสอบข้าวสารที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ ส่งผลทำให้รัฐได้รับความเสียหายกว่าแสนล้านบาท
เจ้าของโกดังแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ส่งหนังสือให้ “เสือออนไลน์” อ่านเล่นๆ เพื่อให้รับทราบถึงพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐในยุครัฐบาล คสช. หลังจากเขาทำหนังสือไปกรม-กอง ในกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอซื้อข้าวสารที่เขาเป็นผู้เก็บรักษาไว้จำนวน 19,320 กระสอบ ในราคา กก.ละ 26.40 บาท
แต่มีระดับ “อธิบดี” ตอบหนังสือกลับมาเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 58 ว่า ข้าวสารในโกดังดังกล่าวเป็นข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เป็นข้าวคุณภาพซี ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินคดีและรอรับผลการแจ้งความของตำรวจ ดังนั้นการพิจารณาจำหน่ายจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเสียก่อน จึงจะดำเนินการได้
“ดีเอสไอ” ต้องรับเรื่องการระบายข้าวสารในช่วงปี 58-61 ไว้เป็น “คดีพิเศษ” เพื่อลากเอาผู้เกี่ยวข้องมาเข้าคุก เข้าตะรางกันให้หมด!
เสือออนไลน์