ตอนจัดตั้งหน่วยงานระดับกรม คือ กรมขนส่งทางราง ก็ยกร่างกฎหมายที่ให้อำนาจสุดบิ๊กบึ้มครอบจักรวาลในการกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ถึงขั้นก้าวล่วงอำนาจคณะกรรมการ คนร. และกฎหมายอื่นๆ จนทำให้เส้นทางยกร่างกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานค้างเติ่งกระทั่งวันนี้..
….
มาถึงการจัดตั้งหน่วยงานระดับกอง หรือสำนักภายในกรมเพื่อกำกับดูแลระบบตั๋วร่วม ก็ยกร่างกฎหมายที่ให้อำนาจครอบจักรวาลหนักเข้าไปอีก เพราะครั้งนี้หวังจะกำกับดูแลครอบคลุมไปทุกระบบในจักรวาลมาเวล แถมยังหวังจะบริหารกองทุนตั๋วร่วมที่ถอดรูปมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเบ็ดเสร็จ
กระทรวงคมนาคม ให้เหตุผลในการยกร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ... โดยระบุว่า โดยที่ในปัจจุบันการขนส่งผู้โดยสารหรือการจราจรต่าง ๆ มีหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเป็นผู้ให้บริการจำนวนหลายแห่ง มีระบบการบริหารจัดการที่แยกจากกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจการภาคขนส่ง หรือนอกภาคขนส่งที่มีการจัดเก็บค่าโดยสาร หรือค่าธรรมเนียมผ่านทางโดยใช้บัตรโดยสาร หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่เติมเงินได้
สมควรกำหนดให้มีการบริหารจัดการร่วมกันในรูปแบบระบบตั๋วร่วม ซึ่งใช้บัตรหรือตั๋วร่วมในการชำระค่าเดินทาง ในระบบขนส่งสาธารณะซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชนผู้ให้บริการด้านการขนส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ และสนับสนุนการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ได้กล่าวถึงการยกร่างกฎหมายดังกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมั่นใจว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว จะสามารถสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายในเดือนมีนาคม 2569 ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก มีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างยั่งยืน
แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นความหวังที่ทุกฝ่ายเพรียกหา หรือเป็นร่างกฎหมายที่ฝ่ายการเมือง มี “วาระซ่อนเร้น” ในการรุกคืบเกาะกุมผลประโยชน์สาธารณะมูลค่ามหาศาล เป็นร่างกฎหมายที่จะกรุยทางไปสู่การรวบอำนาจในการกำกับดูแลระบบขนส่งครอบจักรวาลมาเวลแบบเบ็ดเสร็จหรือไม่
*ตั้ง “คณะกรรมการตั๋วร่วมแห่งชาติ” (ระดับกอง/สำนัก)
ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ประกอบด้วย 7 หมวด 45 มาตราพร้อมบทเฉพาะกาล ดังนี้
- หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (มาตรา 5-13)
- หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 14-23)
- หมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 24)
- หมวด 4 อัตราค่าโดยสารร่วม (มาตรา 25 - 28)
- หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม (มาตรา 29-34)
- หมวด 6 การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต (มาตรา 35-36)
- หมวด 7 โทษทางปกครอง (มาตรา 37-40)
- บทเฉพาะกาล (มาตรา 41-45)
เมื่อคลี่ลงไปดูรายละเอียด ไล่ไปตั้งแต่ หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม ที่กำหนดให้มี “คณะกรรมการระบบตั๋วร่วม” ที่มี รมว.คมนาคม เป็นประธาน ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธาน และกรรมการประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง ที่ดึงผู้บริหารจากทุกหน่วยงานในสามโลกเข้าร่วม ทั้งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมขนส่งทางบก อธิบดีกรมขนส่งทางราง อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทั้งยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ รมว.คมนาคม แต่งตั้งไม่เกิน 7 คน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นกรรมการและเลขานุการ
องค์ประกอบของคณะกรรมการตั๋วร่วม และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้างต้น ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า กระทรวงคมนาคมกำลังจัดตั้งหน่วยงานระดับฝ่ายหรือสำนักขึ้นภายในกรม หรือกำลังจัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายตั๋วร่วมแห่งชาติ” ขึ้นมากันแน่ เพราะดึงผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ที่กล่าวได้ว่า ใหญ่กว่าคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ. เสียอีก
ยิ่งเมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 ที่ประกอบด้วย (1) กำหนดนโยบายการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม การพัฒนาระบบตั๋วร่วม หรือการพัฒนาการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (2) กำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินงาน และระยะเวลาเข้าร่วมดำเนินการในระบบตั๋วร่วม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของผู้ให้บริการภาคขนส่งรายเดิม หรือผู้ให้บริการภาคขนส่งรายใหม่
(3) การออกข้อบังคับดังต่อไปนี้ (ก) มาตรฐานการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และการริหารจัดการรหัสระบบความปลอดภัย (ข) การเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมระหว่างศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง กับผู้ให้บริการภาคขนส่ง (ค) การกำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและข้อกำหนดของระบบตั๋วร่วม (ง) กำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม (จ)กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาในการส่งเงินเข้ากองทุนของบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยหักจากรายได้ของกิจการตามมาตรา 15 (1) หรือ (2) ของผู้ให้บริการภาคขนส่งเอกชนรายใหม่ เมื่อสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี
การที่คณะกรรมการตั๋วร่วม มีอำนาจไปถึงขั้นกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือประโยชน์อื่นใดในระบบตั๋วร่วมหรือการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมทั้งในกิจการที่เกี่ยวข้องหรือกิจการต่อเนื่องกับระบบขนส่งหรือระบบตั๋วร่วม นั้นทำให้เกิดคำถามตามมาว่า
แล้วคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง คณะกรรมการขนส่งระบบราง คณะกรรมการการบินพลเรือยังคงมีอยู่หรือไม่ การกำหนดโครงสร้างค่าบริการตามกฎหมายเหล่านั้นยังคงต้องมารายงานหรือขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการตั๋วร่วมแห่งชาติของกรมขนส่งทางราง หรือ สนข. ในระยะเริ่มต้นนี้หรือไม่?
ติดตาม คลี่ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... อภิมหาหน่วยงานแห่งจักรวาลมาเวล (2)