นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ที่ออกมาประกาศจะเร่งเดินหน้านำเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และผลประกวดราคาโครงการนี้ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการประกวดราคาเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้เมื่อ 2 ปีก่อน และประกาศผลไว้เมื่อ 8 กันยายน 2565 เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ก่อนลงนามในสัญญาสัมปทานต่อไป
พร้อมยืนยันว่า ถึงแม้โครงการนี้จะยังคงมีกรณีร้องเรียนคาราคาซังอยู่อีกหลายเรื่อง ทั้งกรณีพรรคฝ่ายค้านในอดีต (รวมทั้งพรรคเพื่อไทยเอง) ที่เคยยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้ามาไต่สวนการประมูลโครงการนี้ที่มีพฤติกรรมฮั้วประมูล และส่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางราย หรือกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ขอให้ รฟม. และคมนาคมร่วมตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกฯ หลังผลไต่สวนของดีเอสไอระบุว่า โครงการนี้ว่ามีการฮั้วประมูลก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนต่อ
แต่ประเด็นร้องเรียนเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าโครงการ เพราะก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องในคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ฟ้องว่า รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลว. 24 พ.ค.2565 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการตรวจสอบของดีเอสไอ หรือของ ป.ป.ช.จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าโครงการแต่อย่างใด
*เมินสะสางส่วนต่าง 68,000 ล้าน
สำหรับผลการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่กระทรวงคมนาคมเตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ บริษัทเอกชนผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) รวมถึงงานเดินรถไฟฟ้าตลอดสาย วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ รฟม. และคณะกรรมการประกวดราคาได้ประกาศให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ที่เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) -78,287.95 ล้านบาท เป็นผู้ชนะประมูล
ท่ามกลางข้อกังขาของสังคม จากกรณีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เคยยื่นข้อเสนอทางการเงินในการประมูลครั้งแรก โดยเสนอผลประโยชน์สุทธิ (NPV) -9,635 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้เกิดส่วนต่างราคาที่สูงกว่า 68,000 ล้านบาท
แม้ รฟม. และกระทรวงคมนาคม จะประสานเสียง ไม่อาจจะนำข้อเสนอทางการเงินของ BTS มาเปรียบเทียบกับ BEM ได้ เพราะเป็นการประมูลในครั้งก่อน และในการประมูลครั้งหลังกลุ่ม BTS ไม่ได้เข้าร่วมประมูลแต่อย่างใด
แต่สิ่งที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ไม่สามาราถให้ความกระจ่างต่อสังคมได้ ก็คือ เหตุใดราคาประมูลถึงกระโดดค้ำถ่อไปสูงขนาดนั้น ทั้งที่เนื้องานการดำเนินโครงการยังคงเป็นไปตามกรอบเดิมทุกกระเบียดนิ้ว แม้แต่อิฐ หิน ปูน ทราย น็อตหรือตะปูที่ใช้ในโครงการตามใบ BOQ ยังคงเดิมทุกกระเบียดนิ้ว
*แฉรัฐสูญผลประโยชน์ 2 แสนล้าน
แหล่งข่าวในวงการเงินได้สะท้อนเงื่อนไขข้อเสนอราคาของกลุ่มทุนรับเหมาที่ รฟม. และกระทรวงคมนาคม ตั้งแท่นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลประกวดาราคานี้ว่า วงเงินสุทธิที่บริษัทเอกชนขอชดเชยจากรัฐในการดำเนินโครงการนี้จำนวน 78,287.28 ล้านบาทนั้น มาจากการนำส่วนต่างจากค่าสัมปทานในระยะ 30 ปี ที่บริษัทจะเสนอให้แก่รัฐ หักด้วยค่าก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก
ซึ่งข้อเสนอทางการเงินสุทธิ –78,288 ล้านบาทดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าในระยะ 30 ปีของสัมปทานเดินรถสายสีส้มนั้น บริษัทจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน NPV ไม่ถึง 20,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ ขณะที่เสนอราคาค่าก่อสร้างระบบงานโยธาที่สูงกว่า 96,000 ล้านบาท ทำให้มีข้อเสนอทางการเงินติดลบ(-)สุทธิกว่า 78,287.88 ล้านบาท
เท่ากับว่าในระยะ 30 ปีของสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ นอกจากบริษัทจะไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐแล้ว ยังจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐ หรือ รฟม. ปีละร่วม 10,000 ล้านบาท ตลอด 30 ปี คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาท ทำให้เมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน ภาครัฐต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัท 78,000 ล้านบาท เท่ากับผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐควรจะได้รับจากโครงการนี้กว่า 200,000 ล้านบาทนั้นหายไป
“เปรียบให้ง่าย หากเราให้ผู้รับเหมา 2 ราย มาเสนอราคาก่อสร้างบ้าน โดยมีกรอบวงเงินอยู่ 9 ล้าน ซึ่งผู้รับเหมารายแรกเสนอราคามาเพียง 1 ล้านบาท แต่อีกรายที่มาเสนอราคาภายหลังบนเนื้องานเดียวกันกลับเสนอราคามาถึง 8 ล้านบาท หากเราเป็นเจ้าของเงินจะมีใคร่โง่ไปว่าจ้างผู้รับเหมารายหลัง แต่สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝ่ายข้าราชการและฝ่ายการเมืองกำลังประสานเสียงบอกสังคมว่า ทุกอย่างดำเนินการมาอย่างถูกต้อง การพิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมาสุดโต่งที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว รีบตัดสินใจสร้างๆ ไปเถอะ"
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมใน
เนตรทิพย์: Special Report
สะพัด “ถุงขนมสีส้ม” หมื่นล้าน! การเมืองปากมัน อุ้มสมผลประมูลมาราธอนฝ่าด่าน ครม.
http://www.natethip.com/news.php?id=8525