ประเทศไทยพร้อมเปิดบ้านรับนานาชาติ โชว์ศักยภาพการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในงานสัปดาห์แห่งความยั่งยืน SustainAsia Week 2024 ภายใต้แนวคิด “Low Carbon &Sustainable ASEAN Economy” ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2567 จัดเต็มการแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีด้านพลังงานและการขนส่งยุคใหม่สุดล้ำ และการประชุมสัมมนาวิชาการเกาะติดเทรนด์สุดฮอตของโลก โดยหนึ่งในไฮไลท์ คือ การจัดประชุม “Asia CCUS Network Forum” ครั้งที่ 4 เพื่อผลักดันเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศในภูมิภาค พร้อมเปิดเวที “โครงการขับเคลื่อน มองไกล เพื่อชุมชนที่ยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาด” หนุนท้องถิ่นมีส่วนร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ
ปัจจุบัน รัฐบาลไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงและยั่งยืนทางพลังงาน โดยมุ่งมั่นผลักดันประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดตามข้อตกลงของการประชุมระดับผู้นำของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2065
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ประธานการจัดงาน SustainAsia Week 2024 และ Sustainable Energy Technology Asia 2024 หรือ SETA2024 กล่าวว่า การจัดงาน SustainAsia Week 2024 เป็นโอกาสที่ไทยและนานาชาติจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดและไฟฟ้าสีเขียว เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ลดมลพิษ และสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและเศรษฐกิจ โดยมีบริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพลังงาน สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพมหานคร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้จัดเตรียมงานมหกรรมด้านพลังงานครั้งยิ่งใหญ่นี้
SustainAsia Week 2024 เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในยุคที่อุตสาหกรรมพลังงานกำลังเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต และผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ทั้งนี้ หลังปี ค.ศ. 2040 เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ (CCS) และเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอน การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ (CCUS) จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายดังกล่าว
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA) ระบุว่า ชาติสมาชิกอาเซียนมีการใช้เทคโนโลยี CCS ใน 85% โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และ 91% ในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ไปจนถึงปีค.ศ.2050 ดังนั้น การใช้เทคโนโลยี CCS จึงจำเป็นสำหรับประเทศที่ต้องการบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ปัจจุบัน มีการดำเนินโครงการ CCS หลายโครงการในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย ทั้งนี้ โครงการสาธิตเทคโนโลยี CCS ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและโอกาสทางธุรกิจด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่า โครงการสาธิตเทคโนโลยี CCS จะค่อยๆ เปลี่ยนผ่านสู่โครงการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปี ค.ศ. 2025 - 2030
ทั้งนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี CCUS จึงได้จัดงาน Asia CCUS Network Forum ครั้งที่ 4 (ACNF4) ขึ้นภายใต้ SustainAsia Week 2024 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA) สถาบันเศรษฐศาสตร์พลังงาน ประเทศญี่ปุ่น IEEJ (Institute of Energy Economics, Japan) และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) โดยภายในงานจะมีการหารือในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การกำหนดกรอบการทำงานด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจ CCS) และ CCUS มุมมองเชิงเศรษฐกิจและนโยบายด้านการรีไซเคิลคาร์บอน และความร่วมมือกับหน่วยงาน Carbon Management Challenge เพื่อส่งเสริมให้นานาประเทศเพิ่มการใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน นอกจากนี้ ในงานดังกล่าวจะมีการลงนาม MOU/MOC ระหว่างหน่วยงานของญี่ปุ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากชาติสมาชิกอาเซียนด้วย
อีกหนึ่งเวทีที่น่าสนใจ คือ โครงการขับเคลื่อน มองไกล เพื่อชุมชนที่ยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Empowering Communities: Engaging Citizens in Local Sustainability Initiatives) ที่จะจัดภายใต้งาน SustainAsia Week 2024 เช่นกัน โดยผู้จัดงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้นำในระดับท้องถิ่น จึงได้จัดทำโปรแกรมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อการ ตระหนัก เรียนรู้ และการสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้จริง ในการใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อพลังงานสะอาด เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนไปพร้อมกับทุกภาคส่วนในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างแท้จริง
ยังมีงานสำคัญด้านพลังงานที่จะจัดควบคู่กันในมหกรรม SustainAsia Week 2024 และ SETA2024 ได้แก่ งานแสดงเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และระบบการกักเก็บพลังงาน หรือ SSA2024 (SOLAR+STORAGE ASIA 2024) งานขนส่งและยานยนต์อนาคตแห่งเอเชีย หรือ SMA2024 (Sustainable Mobility Asia 2024) และ งาน Zero Carbon Expo 2024 โดยมีพื้นที่แสดงนิทรรศการและเวทีการประชุมสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อที่อยู่ในความสนใจหลากหลายประเด็น อาทิ การประชุม Leadership Asian Energy Summit และศาลานิทรรศการ SCG Pavilion ที่จะมีบริษัทในเครือ SCG มาตั้งบูธแสดงและมีผู้บริหารของกลุ่มมากล่าวถึงแนวคิด Green Infrastructure เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังชวนทุกคนก้าวไปพร้อมกันทั้งเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและสังคม ผ่านพื้นที่กิจกรรมภายใต้ชื่อ “LEAVE YOUR CARBON BEHIND, NOT PEOPLE” ที่รวบรวมกิจกรรมเพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ทำความเข้าใจ จนไปสู่การลงมือทำ อาทิ พาทุกท่านไปสำรวจปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในชีวิตประจำวัน เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนในแง่มุมของธุรกิจกับความยั่งยืน หรือการร่วมทำเวิร์คช้อปกับชุมชน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ในโลกที่เผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจก็ตาม กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรือมีความเปราะบางทางสังคมจะได้รับผลกระทบก่อนเป็นกลุ่มแรกเสมอ พื้นที่กิจกรรมนี้จึงตอกย้ำความตั้งใจที่ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถก้าวไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อม และผู้คนในสังคมได้อย่างยั่งยืนโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน SustainAsia Week 2024 ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ รวมกว่า 15,000 คน จาก 55 ประเทศทั่วโลก เปิดโอกาสให้เกิดการเจรจาขยายเครือข่ายทางธุรกิจ และแสดงศักยภาพของประเทศไทยในตลาดพลังงานเพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก
ติดตามความเคลื่อนไหว และไม่พลาดโอกาสเชื่อมต่อทางธุรกิจและความร่วมมือกับผู้นำด้านพลังงานและความยั่งยืน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน และดูรายละเอียดการจัดงานเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.setaasia.com , www.SolarStorageAsia.com และ www.sustainasiaweek.com