อดีตรองเลขา กสทช. ลุยทำเนียบ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ หลังปธ.วุฒิ ดองเรื่อง ทั้งที่ กมธ.ไอซีที ฟันชัด “นพ.สรณ” ผิดคุณสมบัติประธาน กสทช. ย้ำยิ่งช้า ประเทศยิ่งเสียหาย
วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ อดีตรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เดินทางนำเอกสารและหนังสือเข้าร้องเรียนต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเป็นธรรมและให้ติดตามการพิจารณาในกรณีการขาดคุณสมบัติของนายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. หลังจากที่ คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา หรือ กมธ.ไอซีที มีความเห็นว่า นพ.สรณ ขาดคุณสมบัติการเป็นประธานและกรรมการ กสทช. ตามระเบียบกฎหมาย พร้อมได้ส่งเรื่องไปยัง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาพิจารณาแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นานนับเดือน ทั้งที่จริงรายงานควรส่งถึงท่านนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้าที่วุฒิสภาชุดนี้จะหมดวาระ สว. ด้วยซ้ำ ตนจึงได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือ
ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ อดีตรองเลขา กสทช. กล่าวว่า ช่วงเดือนกันยายน 2566 ตนได้มีหนังสือไปยังวุฒิสภา เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ นพ.สรณ ประธาน กสทช. ว่ามีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 8 และมาตรา 18 รวมทั้งมิได้ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาตามมาตรา 26 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2553 โดยตนได้ยื่นตรวจสอบ 3 กรณี
1. ประธาน กสทช. ยังมีสถานะ “เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย” ทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ผู้ป่วยได้รับค่าตอบแทนรายชั่วโมง ของคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
2. ประธาน กสทช. ยินยอมให้เสนอชื่อตนเองต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ ธนาคารกรุงเทพ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเลือกและยอมรับการเป็นกรรมการของธนาคารดังกล่าว พร้อมทั้งมิได้ลาออกจากตำแหน่ง ถึงแม้จะได้รับการโปรดเกล้ารับตำแหน่ง กรรมการ กสทช.ก็ตาม
3. ประธาน กสทช. ยังคงมีสถานะเป็นผู้บริหารหรือพนักงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ช่อง รามาชาแนล ก่อนเข้ารับตำแหน่ง กรรมการ กสทช.
ซึ่งจากบันทึกการประชุม กมธ.ไอซีที เลขที่ 17/2567 วันที่ 28 พ.ค. 2567 ตาม https://www.senate.go.th/v2/files/commission/report/25670614_133058.pdf ปรากฎเอกสารการพิจารณาข้อมูลและพยานหลักฐานประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น มีความเห็นว่า ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณฯ มีลักษณะเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 มาตรา 18 มาตรา 20 และมาตรา 26 นอกจากนี้ ยังมีมติให้กราบเรียนประธานวุฒิสภาพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ภายหลังที่ทราบความเห็นและมติของ กมธ.ไอซีที ตนจึงได้ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในการพิจารณาคุณสมบัติของประธาน กสทช.แต่จนถึงปัจจุบัน ยังมิได้ดำเนินการตามตามอำนาจผูกพันตามกฎหมายพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา ๗ ข. (๑๒) มาตรา ๘ มาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๐
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูมิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากขอกราบเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้โปรดดำเนินการตามอำนาจผูกพันตามกฎหมาย พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา ๗ ข. (๑๒) มาตรา ๘ มาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๐ เพราะการนิ่งเฉยดังกล่าวอาจจะส่งผลเสียต่อประโยชน์สาธารณะและการดำเนินกิจการโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้ และในระหว่างนี้ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้โปรดมีคำสั่งให้ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานและกรรมการ กสทช. ไว้ก่อน เนื่องจาก ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ ต้องพ้นจากตำแหน่ง กรรมการ กสทช. ตั้งแต่วันที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๗ หรือการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หากยังคงให้ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ต่อไปอาจก่อให้ความเสียหายในอนาคตเพราะการอนุมัติต่างๆ อาจจะถือเป็นโมฆะได้