คนซื้อปริญญาย่อมต้องการของแท้จากสถาบันการศึกษา แต่บางคนโชคร้ายถูกคนขายยัดของปลอมมาให้ อย่างไรก็ตามยังมีคนอีกมากที่ซื้อทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นของปลอม
…
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ATC เผยแพร่บทความที่น่าสนใจที่สอดคล้องกับกระแสแวดวงการเมือง "ซื้อปริญญาห้องแถว" จากต่างประเทศ โดยชี้ให้เห็นว่า “ซื้อปริญญา” หลอกตัวเองแต่โกงสังคม!..
คนซื้อปริญญาพวกหนึ่งเอามาเพื่ออวดอ้างตามค่านิยม แต่อีกพวกซื้อไปใช้ประกอบวิชาชีพหรือเป็นวิทยฐานะในการสมัครงาน พวกหลังนี้เป็นตัวอันตรายจากผลร้ายที่เขาอาจก่อขึ้นแล้วแต่ว่าเขาทำอาชีพอะไร
เช่น เป็นครูบาอาจารย์ นักการเมืองใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งหรือรับตำแหน่งในรัฐสภาตามที่เป็นข่าวดัง บางคนใช้ปริญญาโท/เอกเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษในการสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการผ่านสนามเล็ก บางคนใช้เพื่อทำตำแหน่งทางวิชาการ ผศ. รศ. ได้เร็วขึ้น บางคนใช้เพื่อทำธุรกิจเช่น เปิดโรงเรียน ฯลฯ
ข่าวการซื้อขายปริญญามักเกิดจากมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดกลางหรือเล็ก ส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐยุคนี้ทำได้ยากเพราะอาจถูกตรวจสอบย้อนหลังได้ง่าย เคยมีบ้างเมื่อเจ้าหน้าที่ทุจริตแอบเพิ่มรายชื่อคนขาดคุณสมบัติเพื่อขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
ปัญหาแก้ไม่ตก คือ “จ่ายครบ จบแน่” ตามหลักสูตรหรือมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่ให้คนจ่ายเงินลงทะเบียนเข้าเรียนจริง แต่เรียนพอเป็นพิธีไม่เน้นความรู้ ถ้าต้องทำวิทยานิพนธ์ก็จ้างคนอื่นเขียนให้ บางหลักสูตรใช้เวลาแค่ไม่กี่เดือนก็จบแล้ว พวกนี้มองแต่การค้าต้องการคนมาเรียนมากๆ เพื่อทำกำไร
ยังมีพวกอยากได้ปริญญาโท/เอกแบบเน้นจบไม่เน้นเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เข้าเรียนจริงแต่จ้างคนอื่นเขียนวิทยานิพนธ์ให้ เคยมีคดีดังเป็นอุทาหรณ์คือ เจ้าหน้าที่รัฐที่มีตำแหน่งใหญ่โตแล้วมาเรียนปริญญาเอก แต่ก๊อปปี้งานวิจัยของคนอื่นหรือรายงานของทางราชการ มาแอบอ้างเป็นผลงานของตน
เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดข่าวพิสดาร คือ มีบางคนยอมจ่ายเงินจำนวนมากแลกกับการ “ใส่ชื่อ” ตนเป็นเจ้าของหรือเจ้าของร่วมงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศเพื่อนำมาเป็นหลักฐานยื่นขอตำแหน่งวิชาการ ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องหรือมีความรู้ในผลงานนั้นเลย ทำนองเดียวกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางท่านมีชื่อเป็นเจ้าของงานวิจัยเพียงโอนเงินผ่านเว็บไซต์
คอร์รัปชันที่กัดเซาะคุณภาพคน/คุณภาพสังคมผ่านการศึกษาของชาติเหล่านี้ มักเกิดจากตัวบุคคล แต่ส่วนใหญ่ทำกันเป็นกลุ่มในมหาวิทยาลัย มีบางเครือข่ายที่ขยายอิทธิพลไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับชาติสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
เช่น การซื้อขายตำแหน่งวิชาการ หมุนเวียนกันเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการและผู้บริหารระดับต่างๆ เป็นกรรมการประเมินผลงานวิชาการ กรรมการพิจารณาให้ทุนวิจัยหรือทุนการศึกษา เป็นต้น
ขอให้สังเกตว่า คอร์รัปชันที่กล่าวมานี้ไม่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ไม่ได้เบียดบังเงินหลวง แต่เป็นการใช้ทรัพยากรและอำนาจของหน่วยงานเป็นเครื่องมือหากิน
น่าเป็นห่วงว่า คอร์รัปชันในมหาวิทยาลัยยังเป็นเรื่องรู้กันเพียงวงใน ผู้เขียนยังสืบค้นไม่พบว่า เคยมีนักวิชาการท่านใดสำรวจหรือศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบไว้
แต่แน่นอนว่า การซื้อขายปริญญาเป็นเพียงหนึ่งในร้อยเรื่องราว “คอร์รัปชันในสถาบันการศึกษา” ซึ่งทุกอย่างจะหยุดได้หากทุกคนร่วมมือกันฟื้นฟู “ธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย” ของตัวเอง ด้วยการไม่ทน ไม่นิ่งเฉยปล่อยให้องค์กรเสื่อมเสีย