กำลังเดินมาถึงโค้งสุดท้ายของกระแสข่าวหนาหูของการ “ถอนทุน” ทางการเมือง หมดสิ้นยุคฝืดเคือง (ของพรรค) กันเสียที! ...หรือไม่?
…
กับเรื่องที่กระทรวงคมนาคม เตรียมชงผลการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน และร่างสัญญาร่วมลงทุน #โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการ 1.4 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ได้ประกาศผลประกวดราคาเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้ (8 กันยายน 2565) ให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ชนะการประมูลเพื่อให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบ
หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดี ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ฟ้องคดีคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" โดยยืนยันไม่มีการกีดกันการแข่งขัน ไม่มีการฮั้วประมูล คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกได้ใช้อำนาจในการกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิคสำหรับผู้เข้าร่วมประมูลโครงการอย่างรอบคอบแล้ว
แม้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะยังไม่บรรจุวาระดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ด้วยเหตุที่ยังต้องรอความเห็นจากอัยการสูงสุดเพิ่มเติม แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหา ในเมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาอนุมัติร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวไปแล้วก่อนหน้า ทุกฝ่ายจึงเชื่อว่าอัยการสูงสุดไม่น่าจะมีความเห็นแย้งใด ๆ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “เนตรทิพย์ ออนไลน์” ว่า แม้ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษายกฟ้องคดีความต่างๆ โครงการดังกล่าวไปแล้ว แต่ยังคงมี “ข้อครหา” อีกหลายเรื่องที่ทำให้โครงการดังกล่าวคาราคาซังมาจะร่วม 4 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 มกราคม 2563 เห็นชอบการดำเนินโครงการนี้
โดยนอกจากจะมีกรณีที่ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค” ซึ่งก็รวมไปถึง “พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ” ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมต.กระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหน้าพรรคได้ยื่นหนังสือร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนและตรวจสอบการประมูลโครงการนี้ ที่มีการจัดฮั้วประมูลโครงการอย่างเห็นได้ชัด และปมส่วนต่างราคากว่า 68,000 ล้านบาทแล้ว
ยังมีคดีความที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยื่นมือเข้ามาตรวจสอบการประมูลโครงการนี้ ทั้งโครงการประมูลเดิมเมื่อปี 2563 และการประมูลในครั้งที่ 2 เมื่อกลางปี 2565 โดยเฉพาะกรณีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ที่มีการกำหนดเงื่อนไขอันมีลักษณะอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งดีเอสไอได้สรุปสำนวนส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนโครงการนี้ไปก่อนหน้า
นอกจากนี้ ดีเอสไอยังตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทได้ถูกพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกกรณี “คดีเสือดำ” จึงเป็นขั้นตอนกระบวนการคัดเลือกที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการแข่งขันราคาตามที่กำหนดไว้ ก่อนส่งเรื่องเพิ่มเติมไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.
พร้อมทั้งยังส่งเรื่องไปยัง รฟม. และกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนเรื่องดังกล่าวเมื่อปลายปี 2566 แต่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ได้เก็บงำเรื่องดังกล่าวเอาไว้ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน โดยอ้างว่า เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องอยู่ในชั้นศาลปกครองอยู่แล้ว ควรรอให้ศาลมีคำพิพากษาออกมาก่อน ซึ่งเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมายืนตามศาลชั้นต้นว่า ไม่พบพฤติการณ์การจัดฮั้วประมูล และกีดกันการประมูล รมว.กระทรวงคมนาคม จึงสั่งให้ยุติเรื่องดังกล่าวไปในที่สุด โดยไม่มีการรายงานกลับไปยัง DSI แต่อย่างใด ทั้งที่กรณีการตรวจสอบของดีเอสไอนั้นเป็นคนละกรณีกัน
แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงคมนาคม เปิดเผยด้วยว่า การนำเสนอผลประกวดราคาโครงการนี้เพื่อให้ที่ประชุม ครม. ให้ความเห็นชอบนั้น มีรายงานว่าฝ่ายการเมืองในพรรคเพื่อไทยได้รับคำสั่งให้ไฟเขียวให้กับโครงการนี้เต็มสูบ ในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่เคยมีส่วนร่วมคัดค้านการประมูลโครงการนี้ และร่วมยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เข้ามาไต่สวนโครงการนี้ อาจเลือกวิธีการลากิจหรือลาป่วยไม่เข้าร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบ
โดยมีรายงานสะพัดในวงการรรับเหมาว่า.. “หากโครงการนี้ได้รับการไฟเขียวจากที่ประชุม ครม. จนนำไปสู่การลงนามในสัญญา จะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งราว 50% จะเป็นของนักการเมืองที่ผลักดันโครงการนี้ ส่วนที่เหลือจะกระจายลงไปยังพรรคการเมือง 2-3 พรรค ที่ให้การสนับสนุนหรือไม่?”
“ทุกฝ่ายต่างรู้กันอยู่เต็มอก โครงการที่กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. นั้น ได้ขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐสูงกว่า 78,288 ล้านบาท โดยมีส่วนต่างเม็ดเงินที่บริษัทเอกชนผู้ชนะประมูลขอการสนับสนุนจากรัฐสูงกว่า 68,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับข้อเสนอของกลุ่ม BSR และ BTS ที่เคยเสนอขอการอุดหนุนจากรัฐเพียง 9,635 ล้านบาทเท่านั้น เม็ดเงินที่สะพัดร่วมหมื่นล้านบาท..”
ถ้าในมุมของธุรกิจนั้น ว่ากันว่า “แทบจะเทคโอเวอร์พรรคการเมือง (บางพรรค) ได้เลย”.. ส่วนใครจะเป็นคนเทคโอเวอร์นั้น ในแวดวงการเมืองต่างรู้กันดี!