สิ้นสุดทางเลื่อนผลประมูลรถไฟฟาสายสีส้ม หลังคมนาคมกระเตงผลคัดเลือกให้ที่ประชุม ครม. ประทับตรายางสมใจอยาก ประเคนสัมปทานให้ BEM ผู้ชนะประมูลคัดเลือกตั้งแต่ปีมะโว้ ไม่สนกระแสวิพากษ์ถอนทุนการเมืองหรือไม่? ชี้สวนจุดยืนพรรคตนเองโจ่งครึ่ม!
…
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (16 ก.ค. 67) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาผลการคัดเลือกเอกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ โดยเห็นชอบให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล
ทั้งนี้ ผลการพิจารณาผลการคัดเลือกเอกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนที่เสนอมาครั้งนี้ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด และปัจจุบันศาลปกครองสูงสุด ก็ได้มีคำพิพากษาจนได้ข้อยุติทุกคดีแล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น คงให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้เป็นผู้ชี้แจงต่อไป
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบผลการประมูลซึ่งมีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ชนะโครงการ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการนัดหมายเอกชนลงนามในสัญญา ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งหลังจากลงนามแล้วบีอีเอ็มจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ทันที
ทั้งนี้ ตามที่มีรายงานระบุว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี จะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเดินรถในปี 2571 ส่วนฝั่งตะวันตกช่วงวัฒนธรรม-บางขุนนนท์ จะเปิดบริการปี 2573
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการบรรจุนโยบาย 20 บาทตลาดสายลงไปในสายสีส้มด้วยหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.ในวันนี้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำโครงการนี้เข้าไปอยู่ในนโยบาย 20 บาทตลอดสายอยู่แล้ว โดยได้เรียนในที่ประชุม ครม.ว่า กระทรวงคมนาคมกำลังผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ซึ่งบรรจุนโยบาย 20 บาท อยู่ใน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เมื่อถามว่า คดีความที่ค้างอยู่ในศาลไม่มีแล้วใช่หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ไม่มี
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทแล้ว และจากนี้จะเดินตามขั้นตอนการลงนามในสัญญาต่อไป
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้มีความคืบหน้ามาตามกระบวนการ และหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องทุกคดีแล้ว ก็ได้นำมาเสนอเข้า ครม.เห็นชอบ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้ทำความเห็นเสนอเข้ามาประกอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนระยะเวลาของการเปิดให้บริการนั้น นายสุรพงษ์ ยอมรับว่า น่าจะมีการแบ่งการเดินรถเป็นช่วง ๆ ก่อน โดยปัจจุบันมีช่วงของศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ที่งานโยธาสร้างเสร็จแล้ว กระทรวงคมนาคม จะพยายามเร่งรัดการเดินรถในส่วนนี้ก่อน แต่คงต้องไปหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนคาดว่าใน 2 สัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุป
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของงานก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – บางขุนนนท์ นั้น กระทรวงคมนาคม เห็นว่าปัจจุบันมีความพร้อมเรื่องการส่งมอบพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินได้มีข้อสรุปทั้งหมดแล้ว และเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดนั้น ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีความเห็นว่า ครม. ไม่ควรพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุน เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี นั้น รมช.คมนาคม ยืนยันว่า ครม.ได้มีมติรับทราบร่างสัญญาร่วมลงทุนแล้ว โดยเห็นว่าเป็นการลงทุนในลักษณะ PPP
อนึ่ง ก่อนหน้านี้รัฐบาลโดยมีแกนนำ คือ “พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน” รวม 6 พรรค ในฐานะฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม ได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยให้ยกเลิกการประมูล แล้วเปิดประมูลใหม่
โดยอ้างว่า มีการประมูลไม่โปร่งใสและมีข้อครหาหลายเรื่อง ทั้งการกำหนดทีโออาร์ประมูลโครงการไม่โปร่งใส ส่อเอื้อผลประโยชน์ให้เอกชนรายหนึ่ง รวมถึงส่วนต่างราคาประมูลมหาศาลถึง 68,000 ล้าน และคุณสมบัติผู้บริหารของบริษัท อิตาเลี่ยนไทยฯ ซึ่งเป็นบริษัทพันธมิตรของผู้ชนะการประมูล ถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีเสือดำ ที่สำคัญการเคลื่อนไหวคัดค้านขององค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่สุดท้าย ครม.เศรษฐา ก็ลุยไฟรถไฟฟ้าสายสีส้ม!