ยังคงเป็นประเด็นสุดร้อนที่สังคมให้ความสนใจ.. กับเรื่องของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า PDP2024 (ปี 2565-2580) ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เพิ่งจัดรับฟังคงามคิดเห็นสาธารณะไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนัยว่า จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ทั้งโซล่าเซลล์ พลังงานลม และไฟฟ้าชีวมวลขึ้นไปถึง 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ จากแผน PDP2018 เดิมที่กำหนดไว้เพียง 20% เท่านั้น
….
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ในทำนองที่ว่า แผน PDP2024 ดังกล่าว มุ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชนทุนพลังงาน บอนไซและลดทอนบทบาทของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนแทบไม่มีที่ยืนในสังคม เพราะโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าตามแผนดังกล่าว เมื่อสิ้นปี 2580 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. จะลดลงเหลืออยู่เพียง 19,000 เมกะวัตต์ หรือ 17% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศเท่านั้น
ขณะที่ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือกที่จะเข้ามาทดแทนนั้น กฟผ. มีโอกาสลงทุนเพียงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำขนาด 2,681 เมกะวัตต์เท่านั้น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหลักๆ จะมาจากการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน
ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงพลังงาน ระบุว่า “แผน PDP ฉบับใหม่ส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องผลิตจากอะไร แต่ขอให้เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยมีความแข็งแกร่งจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็จะเร่งการส่งเสริมในด้านนี้เป็นหลัก และต้องยอมรับว่า ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะผลักดันให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณน้ำที่ยังไม่เพียงพอ"
#ความมั่นคงพลังงานกับ #ไฟฟ้าสะอาด
การพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หากมุ่งแต่จะแสวงหาโครงสร้างค่าไฟราคาถูกเป็นหลัก คงหนีไม่พ้นจะต้องหันไปปัดฝุ่นเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาบรรจุไว้ในแผน เพราะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีราคาถูกสุด ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นไฟฟ้าสะอาดตามเทรนด์ของโลกตกด้วย
แต่อย่างที่ทุกฝ่ายรู้เต็มอก การจะปลุกผีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาจากหลุม อย่างที่บรรจุไว้ในแผน PDP2024 แม้จะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกสาปส่ง และ "ปิดประตูลั่นดาน" จากเครือข่ายพลังงานในประเทศมานับศตวรรษ ถูกตราหน้าว่า เป็นมหันตภัยร้าย อันตราย ไม่อาจจะยินยอมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ แม้ทั่วโลกจะให้การยอมรับว่า นี่คือพลังงานสะอาดก็ตาม
#ดาบ 2 คม พลังงานสะอาด!
อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่รัฐบาลพยายามให้การส่งเสริมเพื่อเป็นจุดแข็งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นดาบ 2 คมที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก
เพราะไฟฟ้าสะอาด ไม่ว่าจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ ล้วนต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ที่ถือเป็นปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม
ดังนั้น ระบบไฟฟ้าที่มีความพร้อมและเหมาะสมที่สุดในเวลานี้ยังคงต้องพึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เพื่อเป็นแบ็กอัพสำคัญเมื่อพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในบางช่วงเวลา
ทั้งนี้ การเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่บรรจุเอาไว้ในแผน PDP2024 แม้จะสูงถึง 51% แต่ก็ใช่เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ทำให้สำรองไฟของประเทศพุ่งทะลักเกินความต้องการ และเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงเกินจริงอย่างที่ทุกฝ่ายเข้าใจกัน
ประเด็นในเรื่องของปริมาณสำรองไฟฟ้าควรมีมากหรือน้อยถึงจะเหมาะสมนั้น รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และ ผอ.สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ ระบุว่า “ต้องถามว่า คำว่าล้นเกินนั้น เขาวัดจากอะไร เพราะการบอกว่าไฟฟ้ามีเยอะเกิน มีน้อยเกิน ตรงนี้จับต้องได้ยากและเป็นดุลพินิจส่วนใหญ่”
ทั้งนี้ ตามแผน PDP ที่ทำอยู่เมื่อคำนวณดูในปี 2579 กำลังไฟฟ้าสำรองอาจสูงถึง 51.64% แต่นั่นเป็นตัวเลขช่วงกลางวัน เพราะถ้ามาพิจารณาความเสี่ยงอื่นๆ จากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ตัวเลขอัตราไฟฟ้าสำรองในช่วงกลางคืนจะลดลงมาเหลือแค่ 18.57% เท่านั้น และบางปีเช่น ปี 2573 เหลือแค่ 9% เท่านั้น
#บอนไซกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ?
กับประเด็นในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานต่อกรณีที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงจาก 29% ของกำลังการผลิตรวมในปัจจุบัน หรือกว่า 23,000 เมกะวัตต์ เหลือเพียง 19,000 เมกะวัตต์ หรือ 17% ของกำลังการผลิตรวมในปี 2580 จนหลายฝ่ายแสดงความเป็นกังวลว่าจะส่งผลต่อความไม่มั่นคงด้านพลังงานของประเทศนั้น
คำถามที่ต้องย้อนถามกลับไปยัง กฟผ. และเครือข่ายพลังงาน ก็คือ
1. กฟผ. กำลังจะบอกประชาชนว่า เมื่อมีการปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ. ลงไป รัฐบาลไม่คิดที่จะให้ กฟผ. ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนของเดิม แต่มุ่งมั่นที่จะตั้งโต๊ะเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าสะอาดจากพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกอื่น ๆ จากภาคเอกชนโดยตรงเลยกระนั้นหรือ?
2. การตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าสะอาด หรือไฟฟ้าพลังงานทางเลือกเหล่านี้ กระทรวงพลังงานโดยเฉพาะ กกพ. ไม่เปิดโอกาสให้ กฟผ.หรือบริษัทลูก บริษัทร่วมทุนของ กฟผ. อย่าง บมจ.ผลิตไฟฟ้า EGCO บมจ.ราชกรุ๊ป หรือ บริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น DCAP เข้าร่วมประมูลใด ๆ เลยกระนั้นหรือ กกพ. จำกัดให้แต่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ IPP หรือผู้ผลิตรายเล็ก และรายเล็กมาก ( SPP- VSPP) เข้าเสนอราคาเท่านั้นหรือ?
3. การที่ กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าลดลงจนเหลืออยู่ประมาณ 17% ตามแผน PDP2024 ที่ถือเป็นความไม่มั่นคงด้านพลังงานของประเทศนั้น ความไม่มั่นคงที่ว่าวัดจากอะไรหรือ? เหตุใดหรือทำไมถึงเป็นเช่นนั้น การที่ กฟผ. ยังคงเป็นผู้ดูแลระบบสายส่งทั่วประเทศนั้น ไม่ได้ทำให้ กฟผ. มีความมั่นคงด้านพลังงานเพียงพอกระนั้นหรือ จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเป็นของตนเองควบคู่กระนั้นหรือ จึงจะถือว่ามีความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้
หรือ กฟผ. กำลังจะบอกประชาชนว่า หากให้ กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 100% เฉกเช่นในอดีตเมื่อ 40-50 ปีก่อนนั้น จะถือเป็นความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืนอย่างนั้นหรือไม่?
4. หากการที่รัฐบาล และ กกพ. จัดทำแผน PDP โดยหันไปพึ่งพาพลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่สูงลิ่ว คือ “ความเสี่ยง” และ “ความไม่มั่นคงด้านพลังงานแล้ว” จะต้องทำอย่างไรหรือถึงจะเรียกว่าเป็นความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ ต้องให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง หรือใช้นิวเคลียร์ เพิ่มเติมหรืออย่างไร ถึงจะถือเป็นความมั่นคงด้านพลังงาน
และหากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเหล่านั้น ไม่ได้อยู่ในมือ กฟผ. แต่ตกไปเป็นของเอกชนอยู่ดี (จากการที่ กกพ. ตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าโดยพิจารณาจากเกณฑ์ราคาเป็นหลัก) อย่างนี้จะถือเป็นความไม่มั่นคงด้านพลังงานอยู่หรือไม่ หรือต้องให้ กฟผ. เป็นผูกขาดก่อสร้างโรงไฟฟ้าเหล่านั้นด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะถือว่าเข้าเงื่อนไขความมั่นคงด้านพลังงาน
และก็อย่างที่ทุกฝ่ายประจักษ์ หากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนหรือกลุ่มทุนพลังงานจริง แล้วเหตุใดบรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ต่างๆ ถึงไม่ได้เชียร์ให้นักลงทุนซื้อหุ้นบรรดาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ ตรงกันข้ามกลับแนะนำให้ชะลอการลงทุนกันเสียเป็นส่วนใหญ่เอาได้
ก่อนจะไปถึงจุดนั้น กฟผ. และ 2 การไฟฟ้า ช่วยหันไปเคลียร์หน้าเสื่อนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านหรือสำนักงาน (Solar Rooftop) ที่ก่อนหน้ารัฐบาลออกมาตีปี๊บส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยได้ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคา หรือสำนักงานเพื่อการใช้งาน เป็นการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อมๆ กันด้วยอีก และหากยังมีไฟเหลือยังสามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าได้อีกนั้น
แต่ของจริงทำได้แค่ไหน จนถึงวันนี้ประชาชนคนไทยที่เห็นโอกาสในการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ โซล่าร์รูฟท็อป ที่ขายกันเกร่อ แต่บทที่จะนำไปติดตั้งใช้งานจริงคู่ขนานไปกับไฟฟ้าของรัฐนั้น มันช่างเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ ด้วยขั้นตอนการขออนุญาต-รับรอง ที่นัยว่ากำหนดขั้นตอนการขออนุญาต ขั้นตอนการตรวจสอบรับรองเอาไว้อย่างซับซ้อน จนถึงขนาดที่มีการสัพยอกกันว่า ขนาดตัววิศวกรมาดำเนินการติดตั้งเอง ก็ยังยากจะฝ่าด่านอรหันต์ของการไฟฟ้าภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ไปได้ จะต้องใช้ผู้รับเหมาและวิศวกรที่กำหนดจาก 2 การไฟฟ้าเท่านั้น
จนผู้คนเริ่มจะสงสัย ตกลงรัฐบาลมีความจริงใจในการส่งเสริมประชาชนให้ใช้ประโยชน์จากโครงการโซล่าร์เซลล์ โซล่าร์รูฟท็อปจริงแท้แค่ไหน หรือแค่ลดแรงกดดันจากเทรนด์ของโลกไปเท่านั้น จึงสร้างเงื่อนไขขั้นตอนการขออนุญาตเอาไว้
ยิ่งกว่าเขาวงกต จริงไม่จริง!!!