“ขนาดคลองผดุงกรุงเกษมข้างทำเนียบ - บึงมักกะสันใจกลางกรุง ยังพบปลาหมอคางดำ..
ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าแล้วลุ่มเจ้าพระยา-ท่าจีน จากกรุงเทพฯ ขึ้นไปทางเหนือ บางปะอิน อ่างทอง สิงห์บุรี จนไปจนถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์ แหล่งบรรจบของแม่น้ำสำคัญ 3 สาย
รวมทั้งสายน้ำสาขาที่แยกไปแม่น้ำท่าจีน แม่กลอง ลพบุรี ไปยังแม่น้ำป่าสัก หรือแม้กระทั่งต้นน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตากแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดใหญ่สุดของประเทศจะรอดหรือ?”
…
ย้อนเวลาไปเมื่อ 2 -3 ปีก่อน เกษตรกรฟาร์มสุกร ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั่วประเทศ ต่างสำลักกับปัญหา “หมูเถื่อน” ที่ทะลักเข้ามาถล่มอุตสาหกรรมหมูในประเทศจนล้มทั้งยืน ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มตกต่ำอย่างหนัก ขณะต้นทุนการเลี้ยงพุ่งกระฉูดจนฟาร์มหมูรายย่อยแทบจะล้มหายตายจากกันไปทั้งประเทศ
ขบวนการนำเข้า “หมูเถื่อน” ที่ลักลอบนำเข้ามาถล่มอุตสาหกรรมสุกรของไทย อย่าง “โจ๋งครึ่ม” โดยมีทั้งข้าราชการ(บางราย)ในหลายหน่วยงาน นายทุน-นักการเมืองใหญ่ชักใยอยู่เบื้องหลัง
แถมยังมีรายงานด้วยว่า มีห้างค้าปลีก-ค้าส่งยักษ์ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศมีรายชื่อร่วมอยู่ในหัวขบวนด้วย เพราะมีเอกสารหลักฐานการสั่งหมูแช่แข็งและตับหมูจากขบวนการหมูเถื่อนนี้ ขึ้นไปวางขายบนห้างค้าปลีกค้าส่งของตนด้วย
ก่อนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ”ดีเอสไอ” จะรุกเข้ามาตรวจสอบหมูเถื่อน 61 ตู้ ที่ค้างอยู่ในเขตศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงดำเนินการตรวจยึดหมูเถื่อนเหล่านี้ ก่อนขยายผลตรวจสอบและดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์และกรมประมง
ส่วนผลตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าและจัดซื้อเนื้อหมูเถื่อนและตับเข้าไปจำหน่ายยังห้างมีมากน้อยแค่ไหน คืบหน้าอย่างไร สาธารณชนไม่อาจจะสืบสาวราวเรื่องต่อไปได้ เพราะตัวอธิบดีดีเอสไอผู้รับผิดชอบถูกโยกพ้นตำแหน่งไปแล้ว และมีการปรับเปลี่ยนผู้รับผิดชอบคดีนี้ กระทั่งเรื่องเงียบหายเข้ากลีบเมฆไปในที่สุด
ขณะที่มีรายงานจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2564-2566 คาดการณ์ว่า มีการนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามาในประเทศประมาณ 50,000 ตัน หรือ 2,000 ตู้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอย่างหนัก จำนวนผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศในช่วงปี 2563-64 ที่มีอยู่ราว 200,000 - 300,000 ราย ล้มหายตายจากไปเหลืออยู่ราว 100,000 รายเท่านั้นในปัจจุบัน
ในส่วนของห้างค้าส่งยักษ์ “แม็คโคร” ที่ตกเป็นจำเลยของสังคมในเวลานั้น ได้ออกโรงตอบโต้กรณีอื้อฉาวที่ว่านี้ด้วยการออกแถลงการณ์ยืนยันบริษัทดำเนินธุรกิจเคียงคู่ไปกับการส่งเสริมเกษตรกรมาโดยตลอด และไม่สนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย
พร้อมออกมาร่ายยาวถึงมาตรฐานกระบวนการจัดซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์เข้าไปวางจำหน่ายในห้างแม็คโครมีคุณภาพมาตรฐานตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยมีหลักเกณฑ์จัดซื้อและตรวจสอบย้อนกลับที่ได้คุณภาพ มาตรฐานถูกต้องตามกฎหมายมีหลักเกณฑ์ขั้นตอนการตรวจสอบที่เข้มงวด
ส่วนกรณีจัดซื้อเนื้อสุกรแช่แข็งและตับจากบริษัทที่เกี่ยวกับกับขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน ที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)จับกุมนั้น บริษัทก็โยนลูกให้เป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ออกใบรับรองการนำเข้าที่ถูกต้อง บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และอ้างว่า ที่ทำสัญญาจัดซื้อจากซัพพลายเออร์เหล่านี้ เพราะบริษัทได้สำแดงเอกสารประกอบการนำเข้ามาอย่างถูกต้อง ก่อนที่แม็คโครจะยกเลิกคำสั่งซื้อจากบริษัทดังกล่าว หลังจากตรวจสอบพบว่า สินค้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด
เป็นคำชี้แจงที่สร้างความกระจ่างให้แก่สังคมแค่ไหนอย่างไร การทลายขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนได้ผลอย่างไร ดำเนินคดีกับหัวโจกขบวนนำเข้าไปถึงไหนอย่างไรแล้วนั้น สังคมได้แต่ปูเสื่อรอดูรายงานความคืบหน้าเท่านั้น เพราะทุกอย่างเงียบหายเข้ากลีบเมฆไปหมดในเวลานี้
มาถึงกรณีการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ : เอเลี่ยนสปีซี่ส์” ที่กำลังทำลายอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของไทยในวงกว้างอยู่ในขณะนี้ แม้ถนนทุกสายจะพุ่งเป้าไปยัง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ในฐานะที่เป็นผู้ขอนำเข้าปลาหมอคางดำ เมื่อปี 2549 ก่อนมีการนำเข้ามาในปี 255 เพื่อนำมาวิจัยและพัฒนาพันธุ์ปลานิลที่เป็นผลผลิตเลื่องชื่อของบริษัท
ก่อนจะมีรายงานจากกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดของกรมประมง ระบุว่า เริ่มพบเห็นการระบาดของปลาหมอคางดำมาตั้งแต่ปี 2555 ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับแล็บของที่บริษัทที่ อำเภออัมพวา จ.สมุทรสาคร ก่อนจะพบการแพร่ระบาดในวงกว้างในปี 2559
ทั้งยังข้อมูลจากการสำรวจพื้นที่ในปี 2560 ที่พบว่า ใน จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี มีปลาหมอสีคางดำระบาดในพื้นที่เลี้ยงกุ้งของทั้งสองจังหวัดรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,573 ตัน หรือราว 30 ล้านตัว ประมาณการณ์มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 150-350 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ในปี 2561 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ปลาชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ต่างถิ่น “เอเลียนสปีชีส์” ที่มีความสำคัญสูงที่ต้องมีการควบคุมและกำจัด
ทั้งยังมีรายงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ตั้งอนุกรรมการขึ้นดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านทรัพยากร โดยมีรายงานที่สอดคล้องกับกรมประมงข้างต้น ถึงต้นตอการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่พุ่งเป้าลงไปยังบริษัทใหญ่ด้านการเกษตรครบวงจรข้างต้น
ล่าสุด ศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ปลาภายใต้ซีพีเอฟ ได้ออกโรงยืนยัน ขั้นตอนและกระบวนการดำเนินการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ปลาของบริษัท ตั้งแต่การนำเข้าปลาหมอคางดำในเดือนธันวาคม 2553 ไปจนถึงการทำลายซากปลาทั้งหมดในเดือนมกราคม 2554 เป็นไปตามขั้นตอนที่กรมประมงกำหนดทุกกระเบียดนิ้ว มีความรัดกุมในทุกขั้นตอน
โดยบริษัทได้ส่งหนังสือชี้แจงกระบวนการดำเนินการเหล่านี้ ไปยังคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.) โดนยืนยันว่าการนำเข้าปลาหมอคางดำของบริษัทจำนวน 2,000 ตัวในปี 2553 นั้น พบว่า ปลาสุขภาพไม่แข็งแรงและมีการตายลงเป็นจำนวนมากในระหว่างการขนส่ง ทำให้เหลือปลาที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัวเท่านั้น ก่อนจะทยอยตายลงเกือบทั้งหมดใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัย โดยมีการทำลายซากปลาตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปยังกรมประมงในปี 2554
ขณะที่อธิบดีกรมประมงได้ออกมายืนยันล่าสุดวันวานว่า จากการตรวจสอบระเบียนเอกสารย้อนกลับของกรมประมง ไม่พบเอกสารรายงานผลวิจัยและตัวอย่างซากปลาหมอคางดำที่บริษัทอ้างว่าได้นำส่งมายังกรมประมงแล้ว
ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า กรมประมงหละหลวมทำตัวอย่างวิจัยหายไป หรือบริษัทให้ข้อมูลยกเมฆกันแน่ (ส่วนจะอันตรธานหายไปหรือถูกฝูงปลาหมอคางดำคาบไปกินในช่วงน้ำท่วมปี 2554 หรือไม่นั้น ท่านอธิบดีประมงและกระทรวงเกษตรตั้งรับและเตี้ยมกันให้ดี ไม่แน่อาจจะมีรายงานสุดอึ้งประเภทที่ว่า บริษัทให้คนส่งเอกสารไปส่งที่กรมประมงแล้ว มีเจ้าหน้าที่หรือลุง รปภ.หน้าตึกรับเรื่องไว้แล้วไปควานหากันเอาเอง)
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร แถลงการณ์ของบริษัทข้างต้น มันช่างสอดคล้องและคล้ายคลึงกับถ้อยแถลงของห้างแม็คโครที่มีต่อกรณีหมูเถื่อนแช่แข็งและตับไปโผล่วางขายบนห้างก่อนหน้าเสียจริง เพราะบริษัทยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลและดำเนินการตามขั้นตอนที่หน่วยงานรัฐกำหนดไว้ทุกกระเบียดนิ้ว
บอกปัดความรับผิดชอบใด ๆ ทั้งมวล!!!
จนอดคิดไม่ได้ว่า หรือปลาหมอคางดำเหล่านี้จะว่ายน้ำข้ามทวีปจากอาฟริกาข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามายังอ่าวไทยแบบเดียวกับปลาวาฬหรือไม่หนอ?
หรือว่า..นี่คือแผนจัดระเบียบ "ยึดหัวหาด" อุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ไทยครบวงจรของกลุ่มทุนเกษตรครบวงจรของประเทศกันหรือไม่?
…