จับตา!..วันที่ 14 ส.ค.นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะรอด? หรือไม่รอด? ในคดีอดีต 40 สว. ยื่นถอดถอนนายกฯ จากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจขัดต่อเรื่องคุณธรรม จริยธรรมความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาลเมื่อปี 2552
….
นายพิชิตพูดกับสื่อฯ มาหลายครั้งว่า เขามีมารยาทพอ ไม่โง่และไม่เสียสติขนาดหิ้วเงินสด 2 ล้านบาท ไปจ่ายให้ใครในศาล เพราะวันนั้นไปขอคัดถ่ายสำนวนคดี ยังไม่รู้เลยว่าองค์คณะผู้พิพากษามีใครบ้างแต่ข่าวที่ออกมา หรือคนที่วิพากษ์วิจารณ์โดยไม่รู้ข้อเท็จเจริง เหมือนว่ามีคนเดียวที่หิ้วถุงเงินเข้าไปในศาล แต่กรณีนั้นยังมีตัวละครอีก 2 คน ที่ถูกแจ้งข้อหาพร้อมกับนายพิชิต ฐานร่วมกันใช้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานฯ
แต่ต่อมาตำรวจ สน.ชนะสงคราม มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด นายพิชิตย้ำว่าไม่รู้จริงๆ ว่าเงินนั้นเป็นของใคร เพราะขณะเกิดเหตุอยู่คนละห้องกัน หลังเกิดเหตุกว่า 3 ชั่วโมง จึงโทรฯ ไปสอบถามว่ามีอะไรกัน จึงกลายเป็นภัยติดตัวมา
คือ..โดนข้อหาไปด้วย ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าหน้าตาถุงขนม 2 ล้านบาทเป็นอย่างไร
โดยในสำนวนของตำรวจและอัยการ ระบุว่า “นาย ธ.” เป็นคนถือถุงเงินเข้าไปบริเวณศาล แต่พนักงานสอบสวนตรวจสอบแง่มุมต่างๆ และพุ่งเป้าไปที่นาย ธ. ซึ่งไม่ใช่ทีมทนายของนายพิชิต แต่สุดท้ายเมื่อไม่มีมูล ไม่มีเหตุผลจูงใจที่จะให้สินบนเจ้าหน้าที่-ศาล ทั้งตำรวจและอัยการจึงสั่งไม่ฟ้องทั้ง 3 คน
แต่นายพิชิตถูกคำสั่งศาลฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งไม่ใช่ความผิดทางอาญา เนื่องจากความผิดทางอาญาต้องมีฝ่ายโจทย์-จำเลย มีการสืบพยานทั้งสองฝ่ายก่อนตัดสิน และจำเลยยังมีสิทธิ์อุทธรณ์-ฎีกา
แต่กรณีของนายพิชิตน่าจะเป็นกรณีศึกษาว่า เรื่องแบบนี้ ทำไมถูกตัดสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม อุทธรณ์และฎีกาไม่ได้ ขอความเป็นธรรมไปแล้วได้คำตอบมาว่าเหตุเกิดในศาลสูง (ศาลฎีกา) ศาลเดียวจบเลย อุทธรณ์และฎีกาไม่ได้ ทั้งที่ไม่ใช่คนถือถุงเงินเข้าไปในบริเวณศาล
“ในคำสั่งศาลมี 21 หน้า ใครที่วิพากษ์วิจารณ์เกินเลย ไปอ่านให้ละเอียดแล้วจะรู้ว่านายพิชิตไม่ได้เป็นคนหิ้วถุงเงิน และใน 21 หน้า เป็นข้อยุติด้วยว่า ใครเป็นคนหิ้วเงิน ทั้งตำรวจและอัยการจึงสั่งไม่ฟ้องคดีเพราะไม่มีเหตุผลจูงใจที่จะให้สินบนเจ้าหน้าที่-ศาล” นายพิชิต พูดกับสื่อฯ ไว้อย่างนั้น
“เสือออนไลน์” อ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 เกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี..
1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี 3. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
4. มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
5. ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
6. ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (เกี่ยวกับกรณีถูกจำคุก ไม่ว่าจะตามคำพิพากษา-คำสั่งศาล เว้นแต่ว่าพ้นโทษมาแล้วเกิน 10 ปี)
7. ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
และ 8. ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปีนับถึงวันแต่งตั้ง
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่นายกฯ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะถามความเห็นไปยัง “กฤษฎีกา” ไปเพียงแค่คุณสมบัติตามข้อ 6-7 เนื่องจากหนักหนาสาหัสที่สุด! เพราะตอนนั้นนายพิชิตยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ยังไม่ได้เข้าทำงาน หรือว่าจะงัดเรื่องราวเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ขึ้นมาพิจารณา
ก็ในเมื่อคุณสมบัติข้อ 6 ขนาดติดคุกและพ้นโทษมาแล้วเกิน 10 ปี รัฐธรรมนูญยังให้โอกาสคนเลย!
มาถึงตรงนี้ จึงต้องขีดเส้นใต้ในข้อกฎหมายที่ว่า กรณีถูกจำคุก ไม่ว่าจะตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล เว้นแต่ว่าพ้นโทษมาแล้วเกิน 10 ปี แล้วจะไปอะไรกันอีกกับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกฯ ทางด้านกฎหมาย กล่าวกับผู้สื่อข่าวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์สุจริตและเรื่องจริยธรรม ว่า ได้ส่งคำอธิบายเรื่องเหล่านี้ไปด้วย แต่ไม่ถึงขั้นใส่คำนิยามของเรื่องเหล่านี้ แต่ใช้คำที่ทุกคนเข้าใจกันอยู่ แต่คำว่าซื่อสัตย์สุจริต หรือคำว่าทำผิดมาตรฐานจริยธรรม มันมีความหมายตามรัฐธรรมนูญและมีกระบวนการอยู่
ทั้งนี้ คำว่า มาตรฐานจริยธรรมไม่ใช่เป็นคำที่แต่งขึ้นเรียกกันเอง แต่เป็นชื่อกฎหมาย ซึ่งถ้าใครที่ทำผิดมาตรฐานจริยธรรมนั้น จะต้องถูกยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีเส้นทางการดำเนินการของมันอยู่แล้ว
โดยเรื่องอื่นสามารถพิสูจน์เป็นรูปธรรมได้ง่าย เช่น เคยถูกจำคุกหรือไม่ เคยต้องคำพิพากษาหรือไม่ สิ่งเหล่านี้แค่ยื่นกระดาษ 1-2 แผ่น มายื่นก็พอ แต่เรื่องมาตรฐานจริยธรรมนั้น ใครก็ตรวจไม่ได้ เพราะมีกระบวนการเฉพาะต่างหาก หรือคำว่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เรามองกันก็เห็นว่าซื่อสัตย์สุจริต แต่อยู่ๆ เราจะไปบอกว่าใครไม่ซื่อสัตย์สุจริตนั้น ตามรัฐธรรมนูญถือเป็นอันตราย เพราะถ้าบอกว่าใครไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จะถือว่าบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติตลอดชีวิต!!
เสือออนไลน์