บอร์ด กสทช. ยังปิดบัญชีโครงการ ยูโซเน็ต ระยะ 3 เทเลเมดดิซีนให้บริการ รพ.สต. ทั่วประเทศ 5,200 แห่งไม่ลงตัว หลังประชุมยืดเยื้อมานับสิบรอบ
…
ล่าสุด สำนักงาน กสทช. ชงรายละเอียด-งบลงทุนรวมกว่า 3,991 ล้านให้พิจารณา แต่สุดท้ายยังเคาะหน่วยงานรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพไม่ได้!
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากประชุม บอร์ด กสทช. ครั้งที่ 16/2567 เมื่อวัน 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติหลักการ โครงการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 ระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุขที่มุ่งเน้นให้โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้เป็นหลัก ภายใต้กรอบวงเงิน 3,991 ล้านบาท
โดยบอร์ด กสทช. มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะให้ สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ดำเนินโครงการเอง หรือมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นผู้ดำเนินโครงการแทน เนื่องจากรายละเอียดโครงการ ที่สำนักงาน กสทช. เสนอขึ้นมา เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการเดียวกันที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เคยทำในอดีต พบว่า ไม่สอดคล้องกัน และมีต้นทุนที่แตกต่างกันมาก ทั้งๆ ที่จำนวน รพ.สต.กว่า 5,200 แห่ง แทบจะเป็นโครงการเดียวกัน แต่ กสทช. เสนองบประมาณแพงกว่าที่ สธ. ดำเนินการหลายเท่าตัว
ล่าสุด "หมอไห่" ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เปิดเผยว่า จะเร่งหาหรือกับกระทรวงดีอี ในโครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง แหล่งบริการเพื่อสังคม หรือ User ที่จะให้บริการแก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รพ.สต. โดยเร็ว โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้ ตามกฎหมาย กสทช. สามารถจะมอบโครงการให้ดีเอดำเนินการแทนได้ โดยโอนงบประมาณให้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงดีก็ทำโครงการสนับสนุนอินเตอร์เน็ตให้กับผู้ด้อยโอกาส และหน่วยงานในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนอยู่แล้ว รวมทั้งที่ผ่านมาก็เคยมีการของดสนับสนุนการดำเนินโครงการจากโครงการอยู่แล้ว แต่หากดีไม่สนใจรับมอบโครงการนี้ไปดำเนินการ ทางสำนักงาน กสทช. ก็คงต้องดำเนินการเอง
ทั้งนี้ ข้อมูลโครงการที่สำนักงาน กสทช. เสนอบอร์ด ให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ล่าสุดนั้น เป็นการเสนอให้บริการใน รพ.สต. จำนวน 5,237 แห่ง ได้เข้าถึงบริการโทรคมนาคม โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ตามอุปกรณ์ที่เสนอ ได้แก่
ประเภท 1 คือ มีสิ่งก่อสร้าง USO Mobility พร้อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และ ค่าเช่าอินเทอร์เน็ต
ประเภท 2 คือ มีค่าเช่าอินเทอร์เน็ต อย่างเดียว
ประเภท 3 คือ มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และ ค่าเช่าอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งเป็น 3 ประเภท ตามความพร้อมของพื้นที่ที่ให้บริการ ประกอบด้วย
ประเภท ก. คือ มีไฟฟ้า และมีสื่อสัญญาณทางสาย (FTTx) เข้าถึงแล้ว
ประเภท ข. คือ ไม่มีไฟฟ้าหรือมีไม่เพียงพอ และมีสื่อสัญญาณทางสาย (FTTx) เข้าถึงแล้ว
และ ประเภท ค. คือ ไม่มีไฟฟ้าหรือมีไม่เพียงพอ และไม่มีสื่อสัญญาณทางสาย (FTTx) ต้องใช้สัญญาณดาวเทียมให้บริการ
โดยมีการประมาณการงบประมาณต่อ รพ.สต. 1 แห่งตามประเภทที่สำนักงานเสนอ เช่น ประเภท 1 ค (ไม่มีทุกอย่างโดยต้องเช่าดาวเทียม) มีงบประมาณต่อ 1 รพ.สต. สูงสุด 8,700,000 บาท และต่ำสุด คือ ประเภท 2 ก (ค่าเช่าอินเทอร์เน็ต อย่างเดียว) งบประมาณต่อแห่งอยู่ที่ 360,000 บาท ส่วนประเภทปานกลาง คือ ประเภท 3 ก (มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และค่าเช่าอินเทอร์เน็ต) งบประมาณดำเนินการ ต่อ 1 รพ.สต. อยู่ที่ 1,330,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อ กสทช. ตรวจสอบข้อมูลไปยัง สธ. กลับพบว่า ข้อมูล รพ.สต. ที่สำนักงาน กสทช. เสนอมา ส่วนใหญ่เป็นข้อมูล รพ.สต. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเคยให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาแล้ว ในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 5,246 แห่ง และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือแจ้งยกเลิกการเช่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตจาก NT ทั้งหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากสิ้นสุดสัญญา ประกอบกับ สธ. ได้ทยอยดำเนินการโอนย้ายหน่วยบริการสาธารณสุขเหล่านี้ไปให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในแต่ละจังหวัด จึงมีนโยบายให้หน่วยงานส่วนภูมิภาคดำเนินการเช่าอินเทอร์เน็ตเอง
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า มีหลายพื้นที่ที่สำนักงาน กสทช. แจ้งว่า ต้องเป็น รพ.สต. ประเภท 1 ค คือ ไม่มีไฟฟ้าหรือมีไม่เพียงพอและไม่มีสื่อสัญญาณทางสาย (FTTx) จึงจำเป็นต้องใช้สัญญาณดาวเทียมให้บริการ โดยต้องใช้งบดำเนินการมากกว่า 8,700,000 บาทต่อหน่วย เช่นที่ รพ.สต.บ้านบางไทรนนท์ ต.บ้านใหม่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช หรือที่ รพ.สต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา เป็นต้น ทั้งๆ ที่ รพ.สต. เหล่านี้ทางบริษัท NT เคยให้บริการแก่ สธ.มาแล้ว โดยใช้สื่อสัญญาณทางสายปกติ
อีกทั้งเมื่อตรวจสอบสัญญาที่ NT ให้บริการแก่ รพ.สต. ยังพบว่า คิดค่าบริการอยู่ในอัตรา 518 บาท/เดือน ในปี 2566 และในปี 2567 ค่าบริการที่ 490 บาท/เดือน ประกอบด้วยค่าบริการ Internet Fiber ความเร็ว 600/600 Mbps พร้อมอุปกรณ์ IPTV รวมทั้งมีการจัดอบรม Cyber Security และจัดเจ้าหน้าที่ประจำโครงการ 5 วัน/8 ชั่วโมง ขณะที่สำนักงาน กสทช. เสนอราคาค่าเช่าอินเทอร์เน็ตที่สูงถึง 2,100 บาท/เดือน แต่กลับได้ความเร็วเพียง 500/100 Mbps เท่านั้น
และหากเป็นการให้บริการค่าเช่าอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวตามประเภท 2 ก ในระยะเวลา 5 ปี จะมีมูลค่าสูงถึง 360,000 บาท/แห่ง ในขณะที่ NT ได้เคยให้บริการดังกล่าวที่ผ่านมาในอัตรา 518 บาท/เดือน หากคิด 5 ปี จะมีมูลค่าเพียง 31,080 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าที่สำนักงาน กสทช. เสนอ 10 เท่าตัว
"ไม่เข้าใจว่า ทำไมสำนักงาน กสทช. ไม่ตรวจสอบข้อมูล รพ.สต. ที่เสนอมาให้รอบคอบ แต่จะมาเร่งรัดให้บอร์ด กสทช. อนุมัติโครงการให้ ทั้งที่ข้อมูลที่นำเสนอดังกล่าว ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเคยดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น"