ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร แจ้งว่า เตือนเกษตรกรปลุกทุเรียนให้เฝ้าระวังเพลี้ยไฟ ระบาดไปแล้ว 7 จังหวัด พื้นที่ 895 ไร่ ได้แก่ จังหวัด จันทบุรี ระยอง กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช ยะลา และสุราษฎร์ธานี (ข้อมูล 8 ส.ค.67)
โดยเพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช มีผลทำให้ใบอ่อนหรือยอดอ่อนชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น ใบโค้ง แห้งหงิกงอ และไหม้ การทำลายในช่วงดอก ทำให้ดอกแห้ง ดอกและก้านดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแคระแกร็น และร่วงได้ และในช่วงผลอ่อน ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หนามเป็นแผลและเกิดอาการปลายหนามแห้ง ผลไม่สมบูรณ์และแคระแกร็น เพลี้ยไฟจะระบาดรุนแรงในช่วงแล้ง ซึ่งตรงกับระยะที่ต้นทุเรียนออกดอกติดผล เพลี้ยไฟมีอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถเพิ่มปริมาณได้มาก
สำหรับวิธีป้องกันกำจัด
๑. หากพบเพลี้ยไฟระบาดเล็กน้อยให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายทิ้ง
๒. เมื่อพบเพลี้ยไฟระบาดรุนแรง ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ได้แก่ อิมิดาโคลพริด ๑๐% เอสแอล อัตรา ๑๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ฟิโพรนิล ๕% เอสซี อัตรา ๑๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน ๒๐% อีซี อัตรา ๔๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร และไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำติดต่อกันหลายครั้ง เพราะทำให้เพลี้ยไฟสร้างความต้านทานได้