ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร แจ้งว่า “ทำสาร" เป็นภาษาชาวสวนหมายถึงการใช้สารพาโคลบิวทาโซล (Paclobutrazol) มาใช้บังคับให้ #ทุเรียนออกดอกก่อนฤดู
ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยการผลิตทุเรียนนอกฤดูมานานแล้วโดยใช้หลักความเข้าใจ 4 ประการ คือ เข้าใจพืช เข้าใจสาร เข้าใจสภาพแวดล้อม และเข้าใจความสัมพันธ์ของพืช สาร และสภาพแวดล้อม
จากศึกษาพบว่า การที่ทุเรียนจะออกดอกได้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ปัจจัย คือ สภาพความสมบูรณ์ของต้นที่มีอาหารสะสมเพียงพอกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมคือช่วงแล้ง ดังนั้นสารพาโคลบิวทาโซลที่ใช้ในการผลิตมะม่วงนอกฤดูจึงเป็นตัวเลือกที่ถูกนำมาทดลองใช้ดังกล่าว
#พาโคลบิวทาโซล เป็นสารชะลอการเจริญเติบโตของพืช ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินของพืช ลดการเจริญเติบโตของยอด
ดังนั้น เมื่อทุเรียนได้รับสารพาโคลบิวทาโซลจะทำให้ไม่แตกใบอ่อน ทำให้เกิดการสะสมอาหารเพียงพอและเมื่อกระทบช่วงแล้งก็ทำให้ทุเรียนออกดอกได้ ปกติเราใช้พาโคลบิวทาโซลราดลงดินเพื่อให้ซึมเข้ารากพืชแล้วเคลื่อนย้ายผ่านท่อน้ำ(Xylem)ไปยังส่วนยอดแต่สารพาโคลบิวทาโซลสามารถดูดซึมเข้าไปทำปฎิกริยาในเนื้อเยื่อพืชที่อ่อนได้ จึงถูกพัฒนานำมาใช้ฉีดพ่นทางใบแต่ต้องพ่นให้ถูกกิ่งอ่อนมากที่สุดและควรผสมยาจับใบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมสารของพืชให้ดีขึ้น ระยะที่เหมาะสมในการฉีดพ่นทางใบคือระยะใบเพสลาด
อัตราการใช้สารพาโคลบิวทาโซล คือ 1000-1500 ppm หรือถ้าเป็นสารชนิด 10% ใช้อัตรา 200-300 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ส่วนสารชนิด 25% ใช้อัตรา 80-120 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
ข้อควรระวัง..
การใช้สารพาโคลบิวทาโซลมากเกินไปจะส่งผลให้ยอด ข้อของทุเรียนสั้น รากกุด อ่อนแอ ทำให้เป็นโรคง่าย เมื่อใช้สารพาโคลบิวทาโซลแล้วควรจัดการพื้นฟูสภาพต้นอย่างถูกต้อง เพื่อความยั่งยืนต่อไป