ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยผลสำเร็จ หลังผลักดันนโยบายการอำนวยความสะดวกด้านการเกษตรเป็นผล ส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร หรือ Agricultural Service Provider ช่วยเกษตรกรที่สนใจได้ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยด้วยตนเอง พร้อมกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพิ่มเติมเป็นครั้งแรก นอกจากจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรทางด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะนายทะเบียน ดำเนินการออกระเบียบฉบับใหม่เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร พ.ศ. 2567 ได้ผ่านประชาพิจารณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่ผ่านมา การขึ้นทะเบียนเครื่องจักรกลของเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการบันทึกข้อมูลเครื่องจักรกลทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตรที่มาแจ้งขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ออกเป็น 8 หมวดหมู่ รวม 51 ประเภท นอกจากนี้ ยังมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานดำเนินการรวบรวมข้อมูลอุปกรณ์และเครื่องจักรกลการเกษตร ที่ให้บริการของสถาบันเกษตรกร 73 จังหวัด 632 สหกรณ์ โดยสหกรณ์เป็นผู้บริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจกลับพบว่ามีเกษตรกรที่ให้ข้อมูลในส่วนของเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพียงร้อยละ 1 ของครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมดเท่านั้น อีกทั้งข้อมูลในส่วนของทะเบียนเครื่องจักรกลการเกษตร ดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรอีกด้วย ประกอบกับ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายฯ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้ในปัจจุบันนั้น ไม่ครอบคลุมผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร
ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีนโยบายทบทวนเรื่องการรับขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร โดยมอบหมายทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะนายทะเบียนและฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ยกร่าง “ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร พ.ศ. 2567” พร้อมเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และบุคคลทั่วไป โดยระเบียบดังกล่าวผ่านประชาพิจารณ์ ได้รับความเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“นับเป็นอีกก้าวของความสำเร็จในการผลักดันนโยบายด้านการเกษตร ซึ่งหลังจากที่ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร พ.ศ. 2567 ประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว เกษตรกรจะสามารถมาขอขึ้นทะเบียนเครื่องจักรกลทางการเกษตร กับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่รับขึ้นทะเบียนได้ทันที และถือเป็นมิติใหม่ครั้งแรกในการขึ้นทะเบียนเครื่องจักรกลทางการเกษตรอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากจะช่วยให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรประเภทต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกร ช่วยรองรับภาคการเกษตรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุน และสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกด้วย โดยทางกระทรวงเกษตรฯ จะได้มีการขยายผล และสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนารูปแบบช่องทางการให้บริการ หรือการเข้าสู่การเป็น Service Provider ผู้ให้บริการด้านการเกษตร แก่เกษตรกรที่สนใจต่อไป” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่ สศก. ได้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการนโยบายฯ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร พ.ศ. 2567 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และบุคคล ระหว่างวันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2567 และมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร รวมถึงได้มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานทั้ง 22 หน่วยงาน ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบ ซึ่งมีผลการประชาพิจารณ์ พบว่า มากกว่าร้อยละ 93.26 เห็นด้วยกับ (ร่าง) ระเบียบดังกล่าวทั้งฉบับ ดังนั้น หลังจากนี้ สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร พ.ศ. 2567 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ลงนามโดยเร็ว พร้อมแจ้งให้หน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมหม่อนไหม ดำเนินการรับขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรในส่วนของเครื่องจักรกลทางการเกษตร และการประกอบกิจการด้านการเกษตรต่อไป
นอกจากนี้ สศก. มีแผนดำเนินการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาช่องทาง อาทิ แพลตฟอร์ม เพื่อรวบรวมแหล่งให้บริการผู้ประกอบกิจการด้านการเกษตร แก่พี่น้องเกษตรกร และและสถาบันเกษตรกร เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งในฐานะผู้ให้บริการ ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้รับบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ความสำเร็จจากการขับเคลื่อนนโยบาย Service Provider ในครั้งนี้ จะสามารถผลักดันให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร เติบโตและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาบริการทางการเกษตร และจะสามารถช่วยรองรับภาคการเกษตรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร ได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าจากรายได้เดิมอย่างแน่นอน