แฉเงื่อนงำอ้างสัญญาจ้างผลิต ทั้งที่แหก กม.พีพีพี.. ใบสั่งการเมืองบีบหนัก ทำผู้ว่าฯ กปภ. ไขก๊อก!
…
น้ำลดตอผุด-ท้าทายรัฐบาลจริยธรรมอีก คราวนี้คิวประปาภูมิภาค (กปภ.) หลัง ป.ป.ช. ไล่บี้หนัก เงื่อนงำดอดต่อสัมปทานผลิตและจำหน่ายประปาปทุมธานี 1.24 หมื่นล้าน อ้างแค่จ้างผลิตไม่ใช่สัมปทาน จึงไม่ต้องเข้า ครม. เผยใบสั่งการเมืองบีบหนักจนผู้ว่าฯ กปภ .ไขก๊อก!
แม้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จะ "ปิดจ๊อบ" โครงการผลิตและจำหน่ายประปา ปทุมธานี-รังสิต ด้วยการเซ็นสัญญากับบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ในเครือ บริษัท ผลิตน้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ไปตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 โดยอ้างเป็นเพียงสัญญาจ้างผลิตและจำหน่ายประปาโดยวิธีพิเศษ ไม่ได้เป็นการต่อขยายสัญญาสัมปทานเดิม จึงอยู่ในอำนาจที่ บอร์ด กปภ. สามารถอนุมัติดำเนินการเองได้ โดยไม่ต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
อย่างไรก็ตาม กรณีการต่อขยายสัญญาสัมปทานดังกล่าวกำลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไล่เบี้ยให้ฝ่ายบริหาร กปภ. จัดส่งรายละเอียดโครงการกลับมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไต่สวนและตรวจสอบกระบวนการดำเนินโครงการนี้
เนื่องจากก่อนหน้านี้ สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักเฝ้าระวังและติดตามกรณีขยายสัญญาสัมปทานประปาปทุมธานี ได้เคยมีหนังสือทักท้วงไปยังผู้ว่าการ กปภ. ว่า กรณีที่ กปภ. จะดำเนินการเจรจาขยายสัญญาจ้างผลิตและจำหน่ายประปาปทุมธานี-รังสิต กับบริษัท ประปาปทุมธานี จากสัญญาเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2566 ออกไปอีก 20 ปีนั้น เป็นการดำเนินการที่ ขัดพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (พีพีพี) พ.ศ. 2562 และยังขัดแย้งนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งบอร์ด กปภ. เอง ที่มีนโยบายจะให้ กปภ. ดำเนินกิจการเองภายหลังสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบกระบวนการดำเนินโครงการนี้ พบเงื่อนงำความไม่ชอบมาพากลในการต่อขยายสัญญาผลิตและจำหน่ายประปาปทุม กปภ. อ้างว่า เป็นเพียงการจ้างเอกชนเข้ามาผลิตและจำหน่ายประปาย่านปทุมธานี-รังสิต โดยมีเอกสารหลักฐานชี้ชัดว่า มีความพยายามบีบให้ กปภ. ต้องเจรจาต่อขยายสัญญาสัมปทานเดิมออกไป ก่อนจะปรับเปลี่บนเป็นสัญญาจ้างผลิตและจำหน่ายประปาในที่สุด
โดยก่อนหน้านี้ บริษัท ประปาปทุมธานีฯ มีความพยายามร้องขอต่อขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี จากสัญญาสัมปทานเดิม 25 ปี สิ้นสุด 6 ตุลาคม 2566 โดยอ้างเป็นไปตามข้อตกลงแนบท้ายที่ให้สิทธิบริษัทขอเช่าระบบผลิตและจำหน่ายประปาปทุมธานีได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 10 ปี
แต่ กปภ. ยืนยันว่า ไม่สามารถพิจารณาข้อเสนอของบริษัทได้ เนื่องจากการต่อขยายสัญญาดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.พีพีพี ประกอบกับ กปภ. และกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายที่จะให้ กปภ. ดำเนินการผลิตและจำหน่ายประปาในเขตปทุมธานี-รังสิตเอง ตามรายงานที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการบริหารโครงการประปาปทุมธานีที่ได้ศึกษาไว้ ทำให้เรื่องเงียบไปร่วม 3 ปี
ก่อนที่ในช่วงสุญญากาศการเมือง หลังนายกฯ ประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งกลางปี 2566 เมื่อมีการฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่ โดยมีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นผู้กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด บอร์ด กปภ. ก็ได้เร่งรัดให้ฝ่ายบริหารดำเนินการเจรจาบริษัท ประปาปทุมธานี เพื่อให้บริษัทเช่าระบบผลิตและจำหน่ายประปา เป็นเวลา 10 ปีต่อไป โดยอ้างว่า เพื่อไม่ให้ถูกบริษัทฟ้องร้องตามมา
ก่อนจะมีการนำเรื่องเข้าบอร์ดพิจารณา แต่ฝ่ายบริหาร กปภ. ในขณะนั้น โต้แย้งว่า หากเจรจาขยายสัญญาเดิม หรือรับข้อเสนอของบริษัทจะขัดกับนโยบายกระทรวงมหาดไทยก่อนหน้านี้ และยังสุ่มเสี่ยงขัดแย้ง พ.ร.บ.พีพีพี ปี 2562 ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนทำให้ นายวิบูลย์ วงสกุล ผู้ว่าการ กปภ. ทำหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 หลังถูกบอร์ด กปภ. กดดันให้รับข้อเสนอของบริษัท
ก่อนที่ในขวบเดือนถัดมา รักษาการผู้ว่าการ กปภ. จะปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการใหม่ โดยออกประกาศประกวดราคาจัดหาเอกชนผลิตและจำหน่ายประปาปทุมธานี-รังสิต ด้วยวิธีพิเศษ และดำเนินการออกประกาศเป็นการภายใน ก่อนรวบรัดเจรจากับบริษัทเอกชนเพียงรายเดียว คือ บริษัท ประปาปทุมธานีฯ โดยบริษัทยินยอมปรับลดค่าบริการผลิตและจำหน่ายประปาลงมาเหลือ 1.24 หมื่นล้าน ตลอดสัญญา 10 ปี หรือเท่ากับมีต้นทุนดำเนินการต่ำกว่า 6.60 บาทต่อ ลบ.เมตร
ก่อนนำเสนอผลประกวดราคาวิธีพิเศษเข้าที่ประชุมบอร์ด กปภ. อนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 และลงนามในสัญญาในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 โดยไม่ฟังข้อทักท้วงจากสำนักงาน ป.ป.ช. ที่เห็นว่า กรณีดังกล่าวอาจขัดแย้ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ (พ.ร.บ.พีพีพี) ปี 2562 และส่อเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ขัดมาตรา 46, 47, 48 และ 49 แห่ง พ.ร.บ.พีพีพีอย่างชัดแจ้ง จึงทำให้สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งฝ่ายบริหาร กปภ. ให้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการนี้ให้สำนักงาน ป.ป.ช. โดยด่วน เพื่อดำเนินการตรวจสอบและตั้งอนุกรรมการไต่สวนโครงการนี้ต่อไป