ถอดบทเรียน "นิพนธ์ บุญญามณี" อดีต รมช.มหาดไทย และอดีตนายกฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ที่ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุกถึง 9 ปี พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากกรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาผูกพันที่มีอยู่กับบริษัทเอกชน เป็นอุทาหรณ์ให้ผู้บริหาร กทม. ต้องตระหนักหากคิดยื้อ-หรือเบี้ยหนี้ค้างรถไฟฟ้าบีทีเอส!
…
กรณีที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.กระทรวงมหาดไทย ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา เมื่อ 28 กันยายน 2566 ให้จำคุก 9 ปี พร้อมเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีนั้น เป็นผลพวงมาจากการที่อดีต รมช.มหาดไทยเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ อบจ.สงขลา ปฏิเสธการจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์จำนวน 50 ล้านบาท แก่บริษัทผู้ชนะประมูล โดยอ้างเหตุพบหลักฐานการฮั้วประมูลและใช้เอกสารปลอม
ก่อนที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จะมีคำพิพากษาจำคุกอดีตนายกฯ อบจ.สงขลา ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ม. 157 เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจำคุกถึง 9 ปีพร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นเวลา 5 ปี
แต่กรณีมูลหนี้ค่าลงทุนระบบรถไฟฟ้าและค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า BTS ของ กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม (KT) กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC นั้น ต่างกันออกไป
มูลหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาชี้ขาดไปแล้วเมื่อ 26 กรกฎาคม 2567 ให้ กทม. และ KT ร่วมกันจ่ายหนี้ก้อนแรก 1.2 หมื่นล้าน พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ BTS ไปแล้วภายใน 180 วัน โดยยังคงมีมูลหนี้ส่วนต่อขยายที่ 2 หนี้ลงทุนระบบรถไฟฟ้าและค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า ทั้งที่ให้บริการไปแล้วนับตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบันรวมวงเงินอีกกว่า 40,000 ล้านบาทนั้น
สัญญาจ้างลงทุนระบบรถไฟฟ้าและสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น และได้รับการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยมีการโต้แย้งใดๆ มาก่อน การที่ฝ่ายบริหาร กทม. จะบิดพลิ้วยื้อจ่ายหนี้ค้างดังกล่าวจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ดูจะไม่เป็นผลดีต่อ กทม. อย่างแน่นอน เพราะสุ่มเสี่ยงจะโดนคดีบนบรรทัดฐานเดียวกับอดีตนายกฯ อบจ.สงขลา อย่างแน่นอน
แม้ก่อนหน้านี้ ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูง ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม (KT) จะหยิบยกกรณี ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาต่ออดีตผู้บริหาร กทม. กรณีการทำสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 1 ที่อ้างว่า ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ปี 2535 รวมทั้งแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้บริหารบีทีเอสที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่กระทำผิด
แต่ศาลปกครองสูงสุดมีมติเสียงข้างมาก (3 ต่อ 2) ไม่รับพิจารณากรณีดังกล่าว เพราะพ้นกำหนดระยะเวลาไต่สวนข้อเท็จจริงไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีความพยายามจะขอให้ศาลรับพิจารณาประเด็นกล่าวหาของ ป.ป.ช. จนกระทั่งมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก็มีมติเกือบเป็นเอกฉันท์ 40 ต่อ 2 ไม่รับพิจารณาประเด็นนี้เช่นกัน จึงเท่ากับความพยายามที่จะประวิงเวลาจ่ายหนี้ค้างบีทีเอสตกไป
ขณะที่ข้อกล่าวหากรณีจ้างเอกชนเดินรถส่วนต่อขยายนั้น อัยการได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและให้ระงับคดีไปแล้ว!