อนุ กมธ.ปลาหมอคางดำ แถลงชัด ดีเอ็นเอ #ปลาหมอคางดำ ใน #ฟาร์มยี่สาร ของ #ซีพีเอฟ เมื่อปี 2560 และที่ระบาดไปทั่วประเทศตรงกับดีเอ็นเอปลาหมอคางดำต้นทางที่กาน่า สำทับจิ๊กซอว์ใครเป็นต้นตอแพร่ระบาดเอเลี่ยนสปีชี่ส์
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองประธานอนุชากรรมาธิการศึกษากรณีปลาหมอคางดำ สภาผู้แทนฯ ได้แถลงผลการประชุมอนุ กมธ.ปลาหมอคางดำ (12 กันยายน 2567) เป็นการประชุมครั้งที่ 14 ของอนุ กมธ.ชุดนี้ และได้ข้อสรุปผลการตรวจสอบดีเอ็นเอ (DNA) ปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดจากฟาร์มยี่สาร และที่แพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ พบว่า มี DNA มาจากแหล่งนำเข้าจากประเทศกาน่า แหล่งเดียวกัน โดยจะทำการสรุปรายงานการตรวจสอบ กมธ.ปลาหมอคางดำ ที่ชัดเจนในวันที่ 25 กันยายนนี้
ทั้งนี้ ซีพีเอฟเป็นบริษัทเดียวที่นำเข้าปลาหมอคางดำจากกาน่ามาสู่ในประเทศไทยเมื่อปี 2553 ก่อนที่จะชาวบ้านบริเวณ ต.แพรกหนามแดง และ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ. สมุทรสงคราม พบการระบาดในบริเวณคลองติดกับฟาร์มยี่สารตั้งแต่ปลายปี 2554 และต่อมาพบระบาดในวงกว้างในคลอง 7 คลอง รอบ/ใกล้ฟาร์มยี่สารในปี 2560
ในปี 2560 ประชาชนได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้สอบสวนเรื่องดังกล่าว กรมประมงได้เดินทางไปเก็บตัวอย่างปลาหมอคางดำในฟาร์มยี่สารในปีเดียวกันนั้น มีการหว่านแห 1 ครั้งในบ่อพักน้ำของฟาร์มยี่สาร ของซีพีเอฟ ได้ปลาหมอคางดำจำนวน 10 ตัว โดยได้เก็บตัวอย่างของปลาหมอดังกล่าวในธนาคารพันธุกรรมของกรมประมง และตัวอย่างพันธุกรรมของปลาหมอคางดำนี่เองที่ใช้เป็นดีเอ็นเอเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอต้นทางของปลาหมอคางดำกาน่าของอนุ กมธ. ซึ่งมีการแถลงเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา
นี่เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญอีกชิ้นที่ยืนยันว่า การระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร
โดยก่อนหน้านี้ (2565) งานวิจัยทางพันธุกรรมของกรมประมง ระบุว่า ปลาหมอคางดำที่ระบาดไปทั่วประเทศนั้น "มีที่มาจากแหล่งเดียวกัน" และ "ไม่ได้มาจากการนำเข้าหลายครั้ง"
มีความพยายามจากเอกชนบางบริษัทปล่อยข่าวว่า การระบาดอาจมาจากกลุ่มที่เลี้ยงปลาหมอสี แต่การสอบสวนในเชิงลึกของกรมประมงตั้งแต่ปี 2560 การตรวจสอบของสภาฯ โดยเชิญบริษัทที่มีชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการส่งออกปลาหมอคางดำ ปรากฎว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ว่า ได้ส่งออกปลาหมอคางดำจริงๆ ไม่มีหลักฐานจากประเทศที่มีรายชื่อระบุว่า เป็นผู้นำเข้า เช่นเดียวกับคำยืนยันของนักวิชาการกรมประมงด้านปลาสวยงาม นักวิชาการอิสระที่ศึกษาเรื่องความหลากหลายของปลา และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการปลาสวยงามของประเทศไทย
งานการสอบสวนของอนุ กมธ. เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย เพราะมีผู้เรียกร้องว่า หากตรวจสอบดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำจากฟาร์มของซีพีเอฟว่า ตรงกับดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำจากต้นทางที่ประเทศกาน่าได้เมื่อใด เรื่องนี้ก็จะกระจ่างชัดว่าใครคือต้นเหตุของการระบาดปลาเอเลียนสปีชีส์รุกราน ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย