ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town
เรื่องของนโยบาย "ดิจิทัล วอลเล็ต" แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ คนละ 10,000 บาท นโยบาย "เรือธง" ของรัฐบาลเพื่อไทยที่ตีฆ้องร้องป่าวตั้งแต่ปีมะโว้ แต่ผ่านมากว่าขวบปียังทำไม่ได้
ทำไปทำมายังจ่อเผชิญทางตัน ด้วยข้อจำกัดของแหล่งเงินจะมาสนับสนุนโครงการที่มองไปทางไหนก็ล้วนตีบตันไปหมด แถมยังถูกหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ตั้งแท่นค้านรอบทิศ โดยเฉพาะจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกโรงคัดง้างนโยบายนี้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
ประชาชนคนไทยที่เฝ้ารอรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่รู้จะวางแผนเอายังไงกับชีวิต ในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ว่านี้ เพราะเต็มไปด้วยข้อจำกัด และเงื่อนไขที่ยุ่งยากซับซ้อน ได้มาแล้วก็ไม่ต่างจากเอาขึ้นหิ้งบูชาจับจ่ายอะไรก็แทบไม่ได้
จนรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่รับไม้ต่อจากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ต้องไปปัดฝุ่นเอานโยบายแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน "แอพเป๋าตัง" ที่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยทำเอาไว้มาใช้แทน โดยต้องรื้อและสังคายนาบรรดาข้อจำกัดและเงื่อนไขการใช้เงินยกกระบิ แทบไม่หลงเหลือเค้าเดิมของเงิน Digital Wallet กันไปเลย
โดยจะดีเดย์ แจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบาง และผู้พิการรวม 14.5 ล้านคน เป็นประเดิม ตั้งแต่ 25 กันยายนนี้เป็นต้นไป ส่วนผู้ที่ลงทะเบียน ผ่านแอพ "ทางรัฐ" ก่อนหน้า ก็ต้องลุ้นกันต่อไป รัฐบาลจะผ่าทางตันจัดหาแหล่งเงินจากไหนมาเติมเต็ม
ทั้งหลายทั้งปวง เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความสับเพล่า -ไม่รอบคอบ ของการคิดอ่านและดำเนินนโยบายที่ไม่ตกผลึกอย่างเพียงพอ มุ่งแต่จะหาคะแนนนิยม Maximize Vote มากกว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม จนต้องลนลานขายผ้าเอาหน้ารอด แก้ไขปัญหาเป็นรายวันกันอย่างที่เห็น
เช่นเดียวกับนโยบาย “ค่าแรง 400 บาท” ของกระทรวงแรงงาน ที่หวังจะโชว์เป็นผลงาน "ชิ้นโบแดง" ของรัฐบาลชุดนี้ และเป็นอีกนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่เคยหาเสียงเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้ โดยไม่ดูสภาพข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจและสังคม
จึงทำให้นโยบายดังกล่าวเผชิญกับแรงกดดันและแรงต้านทานอย่างหนักหน่วง จากนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่สะท้อนผ่านไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และโดยเฉพาะคณะกรรมการไตรภาคีที่ต้อง "ล้มแล้วแล้วอีก"
ล่าสุด ในการประชุมบอร์ดค่าจ้าง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขี้นต่ำ 400 บาทอีกครั้ง หลังจากที่ประชุมต้องล้มซ้ำซากมาแล้วถึง 2 ครั้ง ก็มีอันต้อง "ล่ม" เป็นคำรบที่ 3 โดยกรรมการจากฝ่ายนายจ้างยังคง "บอยคอต" ไม่เข้าร่วมประชุมตามเดิม
ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้รับการแจ้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธปท. ไม่ได้เป็นตัวแทน ธปท. แล้ว เนื่องจากเกษียณอายุ จึงเท่ากับตัวแทนของ ธปท. ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมด้วย จึงต้องรอให้ ธปท. ส่งผู้แทนคนใหม่มาแทนเสียก่อน
ขณะที่ตัวประธานบอร์ดค่าจ้าง คือ ปลัดกระทรวงแรงงานเอง ก็จะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนกันยายานนี้ ทำให้มีการคาดหมายกันว่า คณะกรรมการไตรภาคีคงหาทางซื้อเวลาประเด็นเรื่องค่าแรง 400 บาทนี้ต่อไป
แม้ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะประกาศกร้าว ที่จะดีเดย์ปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยไม่รอผลสรุป จากที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคี แต่ทุกฝ่ายก็รู้แก่ใจกันดีว่า การจะหักดิบด้ามพร้าด้วยเข่านั้นรังแต่จะ "เรียกแขกให้งานเข้า" เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
ที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลเพื่อไทยเข้าบริหารประเทศ มีการปรับค่าจ้างขึ้นมาถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในช่วงเดือนมกราคม 2567 ปรับค่าแตงขึ้นจากเดิม 300 บาท เป็น 330-370 บาทต่อวัน และวันที่ 13 เมษายน 2567 มีประกาศปรับค่าแรงขึ้นเป็น 400 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป แต่การปรับค่าจ้าง 400 บาทดังกล่าว ยังต้องผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด คณะอนุกรรมการวิชาการและคณะกรรมการค่าจ้างต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการการค้าและหอการค้าไทย ต่างแสดงความกังวล ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงดังกล่าว ที่ใช้วิธี "มัดมือชก" ประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำล่วงหน้าแล้วกดดันให้คณะกรรมการค่าจ้างเห็นชอบด้วย
โดยเห็นว่า วิธีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด ใน ม.87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังเสนอให้มีมาตรการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ด้วยการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน แทนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ นั่นคือ การจ่ายค่าแรงตาม "ทักษะฝีมือแรงงาน" ขณะเดียวกัน รัฐควรจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาค่าครองชีพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้น
เพราะวันนี้ยังไม่ทันประกาศขึ้นค่าแรง สินค้าอุปโภค-บริโภค ก็พาเหรดปรับขึ้นราคาไปรอล่วงหน้ากันแล้ว สุดท้ายการปรับขึ้นค่าแรงลูกจ้างก็ไม่ได้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะค่าครองชีพแพงขึ้นไปล่วงหน้า
นอกจากนี้ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ อานิสงส์จากนโยบายการปรับค่าแรง 400 บาทนั้น ตัวเลขที่ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง รายงานต่อที่ประชุมไตรภาคีก็คือ
“ถ้ามีการปรับขึ้นในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป จะมีแรงงานไทยได้รับประโยชน์ประมาณ 3 ล้านคน และแรงงานข้ามชาติ ประมาณ 1 ล้านคน”
นั่นหมายถึงว่า การปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทในทุกกิจการที่ว่านี้ จะมีแรงงานต่างด้าวได้รับอานิสงส์ไปด้วยโดยอัตโนมัติ กลายเป็นว่า นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทดังกล่าว กลับไปเอื้อให้แก่แรงงานต่างชาติ ที่ตบเท้าเข้ามาแฝงอยู่ในประเทศไทย
เป็นนโยบาย "เตะหมูเข้าปากหมา" หรือไม่?
ด้วยเหตุนี้ การตบเท้า "บอยคอต" ไม่เข้าร่วมประชุมของฝ่ายนายจ้าง ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐและกระทรวงแรงงาน จึงปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ และยังคงเรียกร้องให้รัฐอย่าได้เอาการเมืองมาบิดเบือนหวังแต่จะสร้างกระแส หา Maximize Vote ให้กับตัวเอง
"เราควรดูแลแรงงานผ่านกลไก Pay by Skills สร้างแรงงานคุณภาพได้ด้วย เพราะในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันนั้น บรรดาโรงงาน บริษัทห้างร้านต่างๆ ทยอยปิดกิจการเป็นรายวัน คนงานต้องตกงานมากมาย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs หากมีการเพิ่มค่าแรงไปถึง 400 บาท ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมและเร่งเร้าให้ธุรกิจปิดกิจการมากขึ้นไปอีก"
ดังนั้น ถ้ารัฐทำตามกฎหมาย ยึดหลักไตรภาคีโดยการจ่ายค่าแรงที่ยึดหลักการ Pay by Skills มีมาตรการลดค่าครองชีพอย่างจริงจัง นโยบายค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่จำเป็นต้องมี ปล่อยให้เป็นการใช้กลไกไตรภาคี โดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้พิจารณาตามสูตรที่มี ย่อมจะดีกว่าที่เอานโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องการหาเสียงของพรรคและนักการเมืองเพียงเพื่อหสัง Maximize Vote ดั่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
หลายฝ่ายมีการฟันธงกันไว้ล่วงหน้า ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่จะมีขึ้นครั้งต่อไปในสันที่ 30 กันยายนนี้ และเป็นครั้งสุดท้ายที่ ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน จะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เนื่องจากจะเกษียณอายุ 30 ก.ย.นี้เช่นกัน มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการปรับค่าแรงเป็น 400 บาท ในบางจังหวัดและกับธุรกิจบางประเภทเท่านั้น และคาดว่าคงจะเลื่อนนโยบายนี้ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
ไม่ใช่ "ปูพรมแจก" ทุกจังหวัดทุกประเภทธุรกิจ แบบเดียวกับนโยบาย "ดิจิทัล วอลเล็ต" ที่สุดท้ายกลับตาลปัตรแจกกะปริดกะปรอยอย่างที่เป็นอยู่!