สคร. ทำพิลึก ส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ รฟท. ให้ตรวจสอบตัวเอง ปมถูกร้องขัดคุณสมบัติสมัคร-นั่งผู้ว่ารถไฟฯ ทั้งที่คลังสั่งให้ตรวจสอบ และ สคร. ออกหนังสือเวียนตั้งกฎเข้มสรรหา แต่งตั้งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ แต่กลับทำเป็นเด็กเล่นขายของให้ผู้ถูกร้องตรวจสอบตัวเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้มีหนังสือ ที่ กค 0817.1/ ล.1381 ถึงผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติและดำเนินการโดยมิชอบของหน่วยงานรัฐ กรณีสรรหา คัดเลือกและเห็นชอบผู้สมัครผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยระบุว่า เนื่องด้วย นายอาคม อุปแก้ว (ผู้ร้อง) รองประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ ได้มีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง ร้องเรียนและขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติและดำเนินการโดยมิชอบของหน่วยงานรัฐ กรณีสรรหา คัดเลือกและเห็นชอบผู้สมัครผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีคุณสมบัติต้องห้าม ซึ่งได้มีรายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังขอเรียนว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาผู้บริหารของ รฟท. ซึ่งเป็นการบริหารจัดการภายในโดยอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจของ รฟท. ดังนั้น จึงขอให้ รฟท. พิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบโดยตรง พร้อมทั้งแจ้งผลการพิจารณาให้ สคร. ทราบโดยเร็วต่อไปด้วย
ทั้งนี้ โปรดพิจารณาให้ความคุ้มครองผู้ร้อง ผู้ให้ข้อมูล และผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่าให้ต้องรับภัย หรือความไม่ชอบธรรมอันเนื่องมาจากการร้องเรียนครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ กรณีการสรรหาผู้ว่าฯ รฟท. นั้น เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบผลการสรรหาตามที่คณะกรรมการสรรหา ที่มี นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ เสนอชื่อ นายวีริศ อัมระปาล ซึ่งในขณะที่เข้ารับการสรรหาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่าเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ว่าฯ รฟท. คนใหม่ และผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 โดยบอร์ด รฟท. มีการลงนามสัญญาว่าจ้าง นายวีริศ อัมระปาล เป็นผู้ว่าฯ รฟท.คนที่ 20 ไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 และเริ่มทำงานทันที
ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้เคยมีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยอ้างถึงแนวทางวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาลงวันที่ 28 ม.ค.2552 ที่อ้างอิงกรณีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งผู้สมัครเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก. ซึ่งในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง มีการทำสัญญาเช่ารถตู้โดยสารยูโรทูกับ ทอท. เพื่อเป็นรถเวียนในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จึงเป็นกรณีที่ ขสมก. มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการหลัก ทอท. ทำให้ตกคุณสมบัติสมัครเข้าคัดเลือกไปเพราะมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 ตรี (12) แห่ง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม”
“เมื่อนายวีริศ ในฐานะผู้ว่าการการนิคมฯ (กนอ.) ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จึงถือได้ว่า มีส่วนได้เสียในสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าข่ายขัดคุณสมบัติหรือเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ อย่างชัดแจ้ง ดังนั้น หากยังปล่อยให้มีการสรรหาที่มิชอบนี้ต่อไป ย่อมจะสร้างความเสียหายให้แก่องค์กรการรถไฟฯ รวมทั้ง ครม. ที่มีส่วนในการเห็นชอบในท้ายที่สุดด้วย ทางเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านคอร์รัปชั่นจึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการไต่สวนเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายในครั้งนี้”
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่ สคร. ทำหนังสือถึง นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟฯ ทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับการร้องเรียนในครั้งนี้ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่า เป็นเหมือนมหกรรมการเล่นปาหี่ของ สคร. ที่พยายามปกปิดข้อเท็จจริง กรณีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ว่าการรถไฟฯ ทั้งที่เป็นคำสั่งของกระทรวงการคลังโดยตรง แต่การส่งเรื่องให้ผู้ว่าการรถไฟฯ เป็นผู้ชี้แจงโดยตรงนั้น ก็เท่ากับว่า สคร. ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายของตนเองโดยเคร่งครัด แต่ต้องการซื้อเวลาการดำเนินการเรื่องนี้เพื่อตบตากระทรวงการคลังและรัฐบาล ที่กำลังเพรียกหาเรื่องของจริยธรรม