สุดพิลึก! แดนสนธยา กสทช. ของแทร่! ประธานบอร์ด กสทช. ชงตั้งแท่นตั้ง "ไตรรัตน์" นั่งรองเลขาฯ จนตายคาเก้าอี้ แต่หวั่นถูกบอร์ดเพ่นกบาล ต้องลนลานออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมกันให้วุ่น
ปรากฏการณ์ที่อาจส่อให้เห็นความไม่ชอบมาพากลในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงใน สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ทำเอาวงการโทรคมนาคมและผู้ปฏิบัติงานใน กสทช. แปลกประหลาดใจไปตามๆ กัน
หลังจากมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2567 สำนักงาน กสทช. มีคำสั่ง เลขที่ 1016/2567 เรื่องการแต่งตั้งพนักงานซึ่งปฏิบัติงานเป็นการประจำ ลงนามโดย นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการสายงานกิจการโทรคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. โดยในเนื้อหาเป็นคำสั่ง แต่งตั้งพนักงานผู้บริหารประจำสำนักงาน กสทช. เป็นการล่วงหน้าถึง 6 เดือน โดยให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ตำแหน่ง รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน และแต่งตั้งให้เป็นพนักงานประจำ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สัญญาจ้างฉบับปัจจุบันของ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ในตำแหน่ง รองเลขาธิการด้านยุทธศาสตร์ฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 มีระยะเวลา 5 ปี สิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2568 ซึ่งปกติแล้วการประเมินผลงานของรองเลขาธิการ ด้านยุทธศาสตร์ฯ ควรจะทำในช่วงต้นปี 2568 แต่จู่ๆ กลับปรากฏว่า สำนักงาน กสทช. กลับมุบมิบดำเนินการประเมินผลงาน ให้รองเลขาธิการรายดังกล่าวผ่านการประเมินผลงานไปอย่างเงียบเชียบ
คำสั่งแต่งตั้ง รองเลขาธิการ กสทช. ล่วงหน้าดังกล่าว ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเนื่องด้วย ตามระเบียบสำนักงาน ข้อ 29. วรรค 4 ระบุว่า “ให้เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้ออกคำสั่งบรรจุ และแต่งตั้ง หรือแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตามวรรค 1 โดยความเห็นชอบของ กสทช.” ดังนั้น คำสั่งแต่งตั้งต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ กสทช. ทั้งคณะด้วย
นอกจากนี้ ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 24/2564 วันที่ 17 ธันวาคม 2564 ในระเบียบวาระที่ 5.3.8 : ข้อเสนอหลักการการปรับปรุงระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2555 ได้เคยมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้กำหนดตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เป็นตำแหน่งพนักงานประจำ (คือเกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปี และไม่อยู่ภายใต้สัญญาจ้างเป็นระยะ) โดยต้องเข้าสู่ตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช. กำหนด โดยความเห็นชอบของ กสทช. โดยกรรมการ กสทช. เสียงข้างมากมีมติว่า “สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กรในปัจจุบัน เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่ง หากมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ ให้บรรจุและแต่งตั้งเข้าเป็นพนักงานประจำต่อไป”
"คำสั่งแต่งตั้งพนักงานประจำ (รองเลขาธิการฯ) ที่ลงนามโดยนายสุทธิศักดิ์ข้างต้น เป็นการประเมินผลงานล่วงหน้ากว่า 7 เดือน ซึ่งตามข้อเท็จจริงจากวาระการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่าประธาน กสทช. ได้เคยนำเรื่องการประเมินผลงานของรองเลขาธิการรายดังกล่าว เข้ามาสู่การพิจารณาของ กสทช. แต่อย่างใด"
#สุดอึ้ง! คนชงตั้งคนชง!
แหล่งข่าวในสำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสั่งแต่งตั้งนายไตรรัตน์ที่ลงนามโดยนายสุทธิศักดิ์ เกิดขึ้นหลังจากที่นายสุทธิศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งจากนายไตรรัตน์ ให้ทำหน้าที่ "รักษาการเลขาธิการ กสทช." ระหว่างวันที่ 5-9 ตุลาคม 2567 ตามคำสั่ง กสทช. ที่ 1019/2567 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2567 เนื่องจากนายไตรรัตน์ มีภารกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศ กับประธาน กสทช.
ก่อนที่นายสุทธิศักดิ์ ในฐานะรักษาการ เลขาธิการ กสทช. จะมีคำสั่งลงวันที่ 7 ตุลาคม 2567 แต่งตั้ง นายไตรรัตน์ เป็นรองเลขาธิการ โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ยาวไปจนเกษียณอายุ (60 ปี)
#ยกเลิกคำสั่งตั้งของตัวเอง
ล่าสุด มีรายงานว่า นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน ได้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรบุคคล (อบย.) ขอยกเลิกคำสั่งสำนักงานเลขที่ 1016/2567 ที่ตนเป็นผู้ลงนามไปก่อนหน้า โดยอ้างว่าอาจไม่อยู่ในอำนาจของรักษาการเลขาฯ ที่จะออกคำสั่งในลักษณะดังกล่าว
แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ตั้งข้อสังเกตว่า ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองเลขาธิการ กสทช.ในครั้งนี้ อาจเพราะนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน เห็นว่า คำสั่งที่ตนออกไปก่อนหน้าในช่วงที่ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. นั่น อาจมีปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากคำสั่งที่ตั้งรักษาการเลขาธิการ กสทช. ในช่วงที่นายไตรรัตน์ เดินทางไปต่างประเทศ กับประธาน กสทช นั้น กำลังถูกมองว่าเป็นการตั้งเพื่อนเข้ามาทำหน้าที่ประเมิน ให้นายไตรรัตน์ ผ่านการประเมิน และต่ออายุการทำงานออกไปจนเกษียณ ซึ่งนายสุทธิศักดิ์ ที่ทำงานอยู่ใน กสทช. มากว่า 20 ปี น่าจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี เหตุใดจึงยอมลงนามคำสั่งดังกล่าวได้ แต่เมื่อนายสุทธิศักดิ์ถูกทักท้วงถึงความไม่เหมาะสม และมีประโยชน์ทับซ้อน จึงรีบยกเลิกคำสั่งของตนเอง
แหล่งข่าวกล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ เมื่อประธาน กสทช. และ นายไตรรัตน์ เดินทางมาจากต่างประเทศในสัปดาห์นี้จะแก้เกมเรื่องนี้อย่างไร จะยังคงยืนยันคำสั่งแต่งตั้งของรักษาการเลขาธิการ กสทช. ก่อนหน้าในการบรรจุแต่งตั้งนายไตรรัตน์ล่วงหน้าถึง 6-7 เดือนต่อไป และจะหาทางเลี่ยงไม่ยอมนำเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. พิจารณาได้อย่างไร