นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณากำกับดูแล พืช/ผัก และผลไม้คุณภาพ ซึ่งประมาณการข้อมูลในปี 2567 ปริมาณการส่งออก พืช/ผัก ผลไม้ ส่งออกกว่า 3 ล้านตัน จำนวนมากกว่า 230,000 ชิปเม้นท์ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตร ได้รับหนังสือจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง (สปษ.ปักกิ่ง) ว่า สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้มีหนังสือแจ้งการตรวจพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนสด ส่งออกไปจีนของไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงสิงหาคม 2567 จำนวน 7 ครั้ง 18 ชิปเม้นท์ ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกภาพรวมของประเทศคิดเป็น 0.0010 % เป็นปริมาณน้อยมาก
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวแม้ว่าจะเกิดในปริมาณน้อย เพื่อเป็นการป้องปราม การเสียประโยชน์ส่วนใหญ่ของประเทศ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการเชิงรุกทุกขั้นตอน ออกยาแรง สกัด ตรวจยกระดับ ควบคุมคุณภาพ พืช/ผัก ผลไม้ ส่งออก นำเข้า กรมวิชาการเกษตร บูรณาการร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร (กส.) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืช (มกอช.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช และหน่วยงานภาคอื่นที่เกี่ยวข้อง ทำงานเชิงรุกทุกขั้นตอนร่วมกัน กำกับ ดูแลระบบมาตรฐานด้านการผลิต การนำเข้า และการส่งออกพืช/ผักและผลไม้ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เพื่อป้องกันผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาพรวมของประเทศหากมีการส่งออกสินค้าพืช/ผัก ผลไม้ที่ด้อยคุณภาพ มาใช้ในการติดตามหรือตรวจสอบย้อนกลับ ตั้งแต่แปลงการเพาะปลูกที่ได้รับการรับรองการผลิตพืชตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) หน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช (CB) ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ให้การรับรองแก่ผู้ประกอบการ การรวบรวมและการบรรจุหีบห่อของโรงงานผลิตสินค้าพืช/ผัก และผลไม้ จนถึงการส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้า
นอกจากนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้มีหนังสือแจ้งการตรวจพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนสด ส่งออกไปจีนของไทย ว่าแคดเมียมเป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ และพิษทางอากาศ อาจพบในพื้นที่ที่เคยทำเหมืองแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมืองแร่สังกะสี อย่างไรก็ตามข้อมูลการสำรวจกรมพัฒนาที่ดินพบว่าแคดเมียมที่พบในพื้นที่ภาคการเกษตรในประเทศไทยไม่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2564สำหรับการดำเนินการหลังจากได้รับการแจ้งเตือนจาก GACC กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการดังนี้…
ระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate: PC) สำหรับแปลงเกษตรกรและโรงคัดบรรจุที่พบปัญหาแคดเมียมเป็นการชั่วคราวระงับทะเบียนโรงคัดบรรจุ DOA และระงับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกทุเรียนผลสดไปนอกราชอาณาจักรของผู้ส่งออกที่พบปัญหาแคดเมียมเป็นการชั่วคราวลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการปนเปื้อนแคดเมียม ในแปลงเกษตรกร และโรงคัดบรรจุที่พบปัญหาพร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างดิน น้ำ ผลทุเรียน และปัจจัยการผลิต เช่น สารเคมี ปุ๋ย ที่เกษตรกรและโรงคัดบรรจุใช้ เพื่อทดสอบหาสารแคดเมียมสุ่มผลทุเรียนสดที่ส่งออกไปจีนระหว่างวันที่ 2-16 กันยายน 2567 รวมทั้งสิ้น 2,129 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียม 1,382 ตัวอย่าง พบแคมเมียมจำนวน 747 ตัวอย่าง ในปริมาณไม่เกินมาตรฐานที่จีนกำหนด 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปลอดภัยในการบริโภคตามมาตรฐานสากล การทดสอบดินและน้ำจากสวนที่มีปัญหา ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช และยะลา จำนวน 18 ราย ไม่พบแคดเมียมในดิน เกินค่ามาตรฐานสากล (แคดเมียมในดินอ้างอิงมาตรฐาน GB 15618 กำหนดไว้ไม่เกิน 4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ทดสอบน้ำจากสวน 16 ราย ไม่พบแคดเมียมในน้ำ เกินค่ามาตรฐานสากล (แคดเมียมในน้ำอ้างอิงมาตรฐาน GB 3838 กำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)
การทดสอบดินและน้ำจากสวนอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์ ทดสอบดินจากสวน 26 สวน 66 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานแคดเมียมในดินอ้างอิงมาตรฐาน GB 15618 และตรวจน้ำจากสวน 26 สวน 31 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียมทั้ง 31 ตัวอย่างการทดสอบผลทุเรียนจากสวนที่มีปัญหา ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช และยะลา จากสวน 4 สวน 7 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานที่จีนกำหนดที่ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
การทดสอบผลทุเรียนจากโรงคัดบรรจุที่มีความเสี่ยง และสุ่มจากตู้สินค้าที่มีการเรียกกลับ โดยสุ่มตัวอย่าง 57 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานที่จีนกำหนด การทดสอบสารเคมี วัตถุเจือปนอาหาร และผงขมิ้นจากโรงคัดบรรจุ สารเคมีที่ใช้ในโรงคัดบรรจุ ประกอบด้วย สารป้องกันกำจัดโรคพืช สารเคลือบผิว สารจับใบ และสีผสมอาหารจำนวน 32 ตัวอย่าง ในผงขมิ้นสุ่มจำนวน 17 ตัวอย่าง พบค่าแคดเมียมไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และกรมวิชาการเกษตรแจ้งเตือนโรงคัดบรรจุ ให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง ตามมาตรฐาน GMP และตามมาตรฐานประเทศคู่ค้า เช่น พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับส่งออก พืช/ผัก ผลไม้ จากไทยไปจีน
กรมวิชาการเกษตร ได้ประชุมร่วมกับ มกอช. กรมส่งเสริมการเกษตร และผู้ประกอบการหารือ พร้อมทำหนังสือแจ้งหน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช (CB) ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช ในกรณีที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต โดยโรงคัดบรรจุจะต้องเลือกใช้ทั้งชนิดและปริมาณที่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง และ/หรือตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หรือข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า ให้เป็นไปตามพิธีสาร ไทย-จีน และขึ้นทะเบียนสารเคมีให้ถูกต้อง นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้มีหนังสือแจ้งหน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช ขอให้ส่งข้อมูลการตรวจประเมินโรงงานผลิตสินค้าพืชที่ได้รับการแจ้งเตือนจากต่างประเทศให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาว่าได้ดำเนินการตามข้อกำหนดกระบวนการสำหรับหน่วยตรวจประเมิน และรับรองระบบการจัดการหรือไม่ และได้มีหนังสือแจ้ง มกอช. ในฐานะผู้ให้การรับรองระบบงาน และเป็นผู้อนุญาตผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบรับรองหน่วยรับรองภาคเอกชน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่า แคดเมียมที่พบในพื้นที่ภาคการเกษตร ไม่เกินมาตรฐานสากลที่กำหนด อนึ่งแคดเมียมเป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ และพิษทางอากาศ อาจจะพบในพื้นที่ที่เคยทำเหมืองแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมืองแร่สังกะสี ตามข้อมูลการสำรวจกรมพัฒนาที่ดินพบว่าแคดเมียมที่พบในพื้นที่การเกษตรในประเทศไทยไม่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สอดรับกับ ผลของการสุ่มผลทุเรียนสดที่ส่งออกไปจีนโดยกรมวิชาการเกษตรระหว่างวันที่ 2-16 กันยายน 2567 ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างทวนสอบและลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริง กับ หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ และอยู่ระหว่างการเชื่อมโยงฐานข้อมูล GAP Online ของกรมวิชาการเกษตรกับทะเบียนเกษตรกร (Farm book) ของกรมส่งเสริมการเกษตร และจะเชื่อมโยงไปฐานข้อมูลของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในอนาคต เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าส่งออกไปถึงแหล่งผลิตพืช รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ E-Phyto lock seal สร้างระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในการจัดการข้อมูลการผลิตไปจนถึงการส่งออกผลไม้ทั้งระบบ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์ นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร จะเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมกำกับหน่วยรับรองภาคเอกชน โรงคัดบรรจุผลไม้ รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตามนโยบายของ รมว.เกษตร อย่างเข้มข้น สกัด พืช/ผัก ผลไม้ด้อยคุณภาพ ส่งออก มุ่งเน้นสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง ตามนโยบายรัฐบาล และความต้องการของผู้บริโภค และประเทศคู่ค้าที่ให้ความสำคัญ คุณภาพ และความปลอดภัยอาหาร