เป็นนโยบายที่เรียกได้ว่า กำลังทำเอาประชาชนสับสน จ่อเรียกแขกให้งานเข้า (เป็นรายวัน) กับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เร่งดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชน และเป็น 1 ในนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทย (พท.)
…
โดย นายสุริยะ จึงร่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ระบุว่า การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมเดือนธันวาคม 2567 นี้
เมื่อ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการจัดตั้ง "กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม" เพื่อจัดหาเงินทุนมาสนับสนุนนโยบาย อาทิ ส่วนแบ่งรายได้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน และงบประมาณ
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง ยังจะร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินการนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลงและเป็นธรรม เข้าถึงได้ง่าย
ส่วนแหล่งรายได้ของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำมาซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชนนั้น เบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายขนส่งและจราจรได้ศึกษาแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) เพื่อนำเงินเข้ากองทุน โดยจะดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนสีลม ถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว เป็นรูปแบบเดียวกับในต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว เช่น ประเทศอังกฤษ เป็นต้น
สำหรับการคาดการณ์แนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเบื้องต้นนั้น มีแนวทางจะเริ่มจัดเก็บในระยะ 5 ปีแรก ในอัตรา 40-50 บาท และในช่วง 5 ปีถัดไป จะทยอยเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้วันละประมาณวันละ 35 ล้านบาท จากปริมาณรถที่ต้องเข้าพื้นที่ราว 700,000 คัน หรือประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี
ฟังดูก็ดูระรื่นหูดีอยู่หรอกกับการ "ปลุกผี" นโยบายจัดเก็บค่าเข้าพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นหรือค่าเข้าเมือง Congestion charge แบบในต่างประเทศ อย่างสิงคโปร์หรือญี่ปุ่น ที่บ้านเรามักหยิบยกเอามาเป็นโมเดลต้นแบบอยากจะทำแบบเขาบ้าง
โดยไม่ได้ดูพื้นฐานการจราจรและระบบขนส่งในบ้านเราเลยว่า แตกต่างจากประเทศเหล่านี้ราวฟ้ากับเหว ไม่สามารถจะนำมาเปรียบกันได้เลย หลายฝ่ายจึงได้แต่เตือนสติรัฐการจะนำเอานโยบาย Congestion charge มาใช้ในบ้านเราต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย
หาไม่แล้ว นโยบายนี้จะเป็น "ดาบ 2 คม" ที่ทำเอารัฐบาลนั่นแหละจะถูกผู้คนลึกขึ้นมาอัปเปหิแบบเดียวกับนโยบาย "นิรโทษกรรมสุดซอย" ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำเอารัฐบาลถูกอัปเปหิจนต้องหนีหัวซุกหัวซุนกันมาแล้วได้
วันวานเหลือบไปเห็น ดร.สามรรถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. และวิศวกรผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่งมวลชน ได้ออกมาตั้งข้อสังเกี่ยวเกี่ยวกับนโยบายจัดเก็บค่าเข้าเมืองย่านธุรกิจที่ว่านี้ว่า แนวคิดนี้มีมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ต้องพับเก็บไว้ เพราะเป็นแนวคิดที่ส่งผลกระทบต่อผู้เดินทางจำนวนมาก ทำให้นักการเมืองไม่กล้านำมาใช้ เพราะจะทำให้คะแนนนิยมทางการเมืองลดน้อยลง
มาถึงรัฐบาลนี้กลับมีความกล้าขึ้นมา อาจเป็นเพราะว่าต้องการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสายทุกสีเป็นจริงและยั่งยืนตามที่ได้หาเสียงไว้ หากไม่ซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ซึ่งต้องชดเชยเงินให้เอกชนผู้รับสัมปทานคงทำได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง
แต่ก่อนที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านอย่างรอบคอบเพื่อลดผลกระทบต่อผู้คนที่จำเป็นต้องเดินทางเข้า-ออกย่านธุรกิจที่เป็นเป้าหมาย รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในย่านธุรกิจ
ทั้งยังต้องเตรียมความพร้อมตอบสนองต่อหลากหลายคำถาม เช่น
(1) นักเรียนที่มีผู้ปกครองขับรถไปรับ-ส่งที่โรงเรียน หากผู้ปกครองมีฐานะดีก็คงยินดีจ่าย คงไม่ยอมให้ลูกนั่งรถไฟฟ้า และ/หรือ รถโดยสารสาธารณะไปโรงเรียน แต่หากผู้ปกครองที่พยายามขวนขวายหารถส่วนตัวมาใช้ก็คงคิดหนักว่าจะจอดรถก่อนเข้าพื้นที่ดีหรือไม่ ? มีที่จอดรถมั้ย ? อัตราค่าจอดรถเท่าไหร่ ? จอดรถแล้วลูกจะเดินทางไปโรงเรียนอย่างไร ? มีรถไฟฟ้าหรือไม่ ? รถไฟฟ้าไปถึงโรงเรียนหรือไม่ ? ถ้าไม่ถึงมีรถโดยสารสาธารณะอื่นหรือไม่ ?
(2) ที่จอดรถนอกพื้นที่เป้าหมายมีเพียงพอหรือไม่ ? อัตราค่าจอดรถเท่าใด ?
(3) ในพื้นที่เป้าหมายนอกจากมีรถไฟฟ้าแล้ว มีรถโดยสารสาธารณะอื่นเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสถานีรถไฟฟ้าไปโรงเรียน หรือที่ทำงานหรือไม่ ?
(4) ผู้ที่อยู่อาศัยในย่านธุรกิจที่เป็นเป้าหมายในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จะต้องจ่ายค่าผ่านทางเข้า-ออกพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ด้วยหรือไม่ ?
(5) รถที่มีคนนั่งหลายคน เช่นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป (รวมทั้งคนขับ) จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรถติดหรือไม่ ?
(6) รถที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรถติดมีรถประเภทใดบ้าง ?
(7) ช่วงเวลาการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ? หรือตลอดทั้งวัน ?
(8) อัตราค่าธรรมเนียมรถติดเท่าใด ? เท่ากันตลอดทั้งวัน ? หรือเปลี่ยนตามช่วงเวลา ?
(9) กรุงเทพฯ มีตรอกซอกซอยมาก จะป้องกันไม่ให้ผู้ใช้รถใช้เป็นเส้นทางหลบเลี่ยงการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดได้อย่างไร ?
(10) จะนำเทคโนโลยีใดมาใช้เก็บค่าธรรมเนียมรถติด ?
แค่ข้อสังเกตเบื้องต้นก็ทำเอาผู้คนหูผึ่งถึงนโยบายที่ว่านี้จะไปได้ตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร เพราะอย่างที่ทุกฝ่ายรู้แก่ใจกันดีในย่านธุรกิจเหล่านี้หาได้มีระบบขนส่งมวลชนทอดไปถึงหัวกะไดบ้าน หากเป็นผู้อยู่อาศัยในย่านนี้จะได้รับยกเว้นหรือไม่อย่างไร ผู้คนเขาคงไม่ปลื้มหรอก หากจะเข้า-ออกบ้านตัวเองหรือที่ทำงานตัวเองแล้วต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้า-ออก
สำหรับ แก่ง หินเพิง นั้น ฟันธงลงไปตรงนี้เลย แค่รัฐทำคลอดนโยบายนี้ออกมา ก็คงสูญเสียแรงสนับสนุนจากภาคธุรกิจไปหมดหน้าตักแล้ว แบบว่าพร้อมจะลงถนนต้านรัฐบาลแบบที่นายกฯ ปู-ยิ่งลักษณ์ เคยโดนอัปเปหิจนต้องหนีหัวซุกหัวซุนนั่นแหละ
แถมนโยบายที่ว่า แทนจะทำให้รัฐบาลได้คะแนนนิยม ก็กลับจะเรียกแขกให้งานเข้า กลายเป็นนโยบายฆ่าตัวตายทำลายคะแนนนิยมตัวเอง ทำให้ผู้ที่เคยสนับสนุนพรรคพร้อมจะลุกฮือชึ้นมา "เทรัฐบาล" หรือร่วมอัปเปหิรัฐบาลเสียมากกว่า
เพราะในทันทีที่ทำคลอดนโยบายนี้ออกมา ทำเลทองย่านธุรกิจทั้งหลายแหล่ จะพลิกผันจากหน้าเมือเป็นหลังเท้า กลายเป็นทำเลเน่า เป็นย่านผีสิงไปในทันที ใครจะอยากเข้าไปทำงาน เข้าไปช้อปปิ้งในย่านที่ต้องเจอด่านรีดค่าเข้าพื้นที่จิปาถะแบบนี้ จะไปช้อปปิ้ง จับจ่ายใช้สอย เดินห้างหรือแวะกินข้าว ช้อปปิ้งฟู้ดสตรีท ก็ต้องเจอ "ด่านรีด" ค่าเหยียบแผ่นดินแพงหูฉี่
ขอโทษ! ไม่ต้องไปคิดอ่านว่าจะเก็บ 40-50 หรือ 100 บาทหรอก ต่อให้เรียกเก็บแค่ 5 บาทถึง 10 บาท ผู้คนก็พร้อมจะลุกขึ้นมาคัดง้างเขกกบาลคนคิดนโยบายนี้กันแล้ว!
บรรดาร้านรวง อาคารสำนักงาน ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรมหรือที่อยู่อาศัย จะคอนโดที่พักอาศัยหรืออาคารสำนักงานในย่านเหล่านี้จะตกวูบ กลายเป็นทำเลนรก "ทำเลร้าง" ไปในทันที
พนักงานธนาคาร ร้านรวง ห้างสรรพสินค้าในย่านนั้น อย่างเซ็นทรัลพระราม 9 เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลสีลม เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือสยามพารากอน ที่แม้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงแต่ผู้คนต้องผ่านย่านนี้เข้า-ออกด้วย ไม่ต้องทำอะไรแต่ละคนมีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมเข้าออกพื้นที่ เพิ่มคนละ 40-50/100 บาทต่อวัน เดือนละ 4-6 พันบาทไปแล้ว เกิดบริษัทหรือห้าง โรงแรม มีพนังานสัก 200-300 คน ไม่รู้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่
จะไปแถกเหงือกอ้างว่า สามารถจะมาใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายแทนได้อยู่แล้ว ทุกฝ่ายต่างก็รู้สาแก่ใจกันดี ระบบรถไฟฟ้า รถเมล์ขนส่งมวลชนบ้านเรา เหมือนบ้านอื่นเมืองอื่นเขาซะที่ไหน
ไหนยังจะมีเรื่องของวินมอเตอร์ไซค์ แกร็บไบค์ ไลน์แมน อะไรต่อมิอะไรที่ให้บริการอยู่ตามตอกซอกซอยด้วยนั่นอีก จะต้องถูกเรียกเก็บค่าบริการด้วยไหม เมื่อจะต้องผ่านเส้นทางเรียกเก็บเงินที่ว่านี้
ไอ้ที่ไปคาดหวัง จะสามารถจัดเก็บรายได้เข้ากองทุน วันละ 35 ล้าน จากปริมาณรถที่เข้าออกบนถนนสายหลักย่านนี้วันละกว่า 700,000 คันนั้น เอาเข้าจริง เมื่อผู้ใช้รถต้องเจอด่านรีดไถมหาโหดแบบนี้ ปริมาณรถที่เข้าพื้นที่ย่อมจะลดลงไปโดยปริยาย
แถมบรรดาร้านรวง ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ในย่านนั้น รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง ที่คงจะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ก็คงดาหน้าแหกอกถล่มนโยบายรัฐเป็นรายวันแทน เศรษฐกิจที่จมปลักอยู่แล้ว ก็คงถึงคราววิบัติการงานนี้
รัฐบาลอาจแถกเหงือกตะแบงไปได้ว่า อาจมีมาตรการบรรเทาผู้ที่มีถิ่นฐานบ้านเรือนที่พักอาศัยอยู่ในย่านนี้ อาจได้รับยกเว้น อาจได้สติ๊กเกอร์ผ่านเข้า-ออก แต่ก็หาใช่หนทางแก้ไขเผลอๆ จะกลายเป็นช่องทางทำมาหากินของพวกหัวใสหนักเข้าไปอีก
ถึงได้บอกให้รัฐบาลมาดามแพทองธารให้ตระหนักถึงการทำคลอดนโยบายนี้ให้ดี แม้ผู้คนจะเห็นดีเห็นงามกับนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย แต่กับการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ที่ต้องมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าเมืองหรือพื้นที่ย่านธุรกิจรถติดวินาศสันตะโรนั้น รังแต่จะเป็นนโยบายฆ่าตัวตายชัดๆ
เชื่อเถอะ! ทำคลอดออกมาเมื่อไหร่ ก็คือการนับถอยหลังรัฐบาลแพทองธารเมื่อนั้น ปูเสื่อรอได้เลย!!!