นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิตมังคุด ในพื้นที่จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการคัดเลือกและผลักดันให้เป็นสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูงของจังหวัด เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและตลาดต่างประเทศมีความต้องการ ซึ่งจากข้อมูลของ สศก. (ณ วันที่ 26 กันยายน 2567) พบว่า ปี 2567 จังหวัดระนองมีพื้นที่ปลูกมังคุดรวม 14,040 ไร่ ให้ผลผลิตรวม 8,955 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 653 กิโลกรัม/ไร่ แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอกระบุรี และอำเภอละอุ่น
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2568 ผลผลิตมังคุดจะมีทิศทางที่ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต จากการติดตามสถานการณ์การผลิตมังคุดในพื้นที่จังหวัดระนอง พบว่า วิสาหกิจชุมชนไม้ผลคุณภาพเกษตรอินทรีย์ จปร. อำเภอกระบุรี เป็นกลุ่มวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จในการผลิตมังคุดตามมาตรฐาน GAP และผลักดันสู่การผลิตมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มดำเนินการรวมกลุ่มปี 2561 มี นายอำมรินท์ อุ๋ยสุวรรณ เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกร 387 ราย ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว จำนวน 13 ราย และอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนอีก 40 ราย โดยในปี 2567 กลุ่มได้ผลผลิตมังคุดในฤดูมาตรฐาน GAP และมังคุดอินทรีย์ รวมประมาณ 30 ตัน โดยผลผลิตที่สมาชิกนำมาจำหน่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจ (ราคา ณ เดือน สิงหาคม 2567) ได้ราคาเฉลี่ย 47 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตมังคุดส่วนใหญ่ ร้อยละ 55 กลุ่มจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการส่งออก เพื่อส่งออกไปยังคู่ค้าต่างประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี มาเลเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเวียดนาม รองลงมาผลผลิตร้อยละ 41 จำหน่ายให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และห้างแม็คโคร เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคภายในประเทศ ผลผลิตร้อยละ 2 นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ สบู่มังคุด น้ำมังคุด และผลผลิตอีกร้อยละ 2 เกษตรกรจะจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ Facebook ของเกษตรกรเอง ทั้งนี้ จากกระบวนการผลิตและการแปรรูปผลผลิตมังคุดของกลุ่มวิสาหกิจสามารถสร้างรายได้ 66 ล้านบาท/ปี
สำหรับแนวทางการดำเนินงานของกลุ่ม ได้มีการบริหารจัดการในแต่ละด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการผลิต สมาชิกกลุ่มได้รับการอบรมเกี่ยวกับการผลิตมังคุดจากแหล่งอบรมต่าง ๆ อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง ให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรผู้ปลูกมังคุดผลิตมังคุดให้ได้มาตรฐานและคุณภาพตามที่ตลาดต้องการโดยเฉพาะการผลิตตามมาตรฐานการควบคุม GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ด้านราคา กลุ่มจะรวบรวมผลผลิตของสมาชิกและจำหน่ายในรูปของการประมูลทำให้สมาชิกจำหน่ายผลผลิตได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด และด้านการจำหน่าย กลุ่มรวบรวมมังคุดเพื่อจำหน่าย โดยเริ่มจากการจัดประชุมสมาชิกเพื่อสำรวจปริมาณมังคุดในช่วงที่มังคุดเริ่มมีการออกดอกในเดือนมกราคม ให้ได้ปริมาณตรงตามแผนการตลาด ในส่วนของแนวทางการขับเคลื่อนกลุ่มในระยะต่อไป จะยังคงพัฒนาคุณภาพผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพตรงกับความต้องการตลาด รวมถึงการจัดการผลผลิต การรวบรวม การกระจายผลผลิต ช่องทางการจำหน่าย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า อีกทั้ง ยังส่งเสริมปรับเปลี่ยนการผลิตมังคุดให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต อนุรักษ์และปรับปรุงสภาพแวดล้อม
“การพัฒนามังคุดให้มีความยั่งยืนเกษตรกรต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนแนวความคิดจากการปลูกมังคุดแบบดั้งเดิมไปสู่การทำฟาร์มแบบอัจฉริยะมากขึ้นโดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพ เพิ่มผลผลิต อีกทั้งควรมีการถ่ายทอด องค์ความรู้ระหว่างกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ รวมถึงนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งเสริมการแปรรูปให้มีมาตรฐานและตรงความต้องการของผู้บริโภค ส่งเสริมการทำกลยุทธ์การตลาดออนไลน์เป็นช่องทางในการจำหน่ายมังคุดเพิ่มขึ้น พัฒนาและเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์ทั้งระบบเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานและช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งและป้องกันผลผลิตมังคุดเสียหาย หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตมังคุด ของวิสาหกิจชุมชนไม้ผลคุณภาพเกษตรอินทรีย์ จปร. ติดต่อสอบถามได้ที่ นายอำมรินท์ อุ๋ยสุวรรณ ประธานวิสาหกิจฯ โทร 0 81081 8751 หรือ Facebook : วิสาหกิจชุมชนผลไม้คุณภาพเกษตรอินทรีย์ จปร. หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวทิ้งท้าย