จับตาประเด็นร้อน จากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ต่อเนื่องมายังรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะเปิดการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติ-น้ำมันดิบ) ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่ระบุว่า เป็นแหล่งก๊าซฯ-น้ำมันดิบ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านล้านบาท เพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ใช้พลังงานถูกลง“
.......
รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ต่อเนื่องมายังรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะเปิดการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติ-น้ำมันดิบ) ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่ระบุว่า เป็นแหล่งก๊าซฯ-น้ำมันดิบ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านล้านบาท ในลักษณะทางกายภาพเหมือน “ภาพสะท้อนกระจก” กับแหล่งก๊าซฯในบริเวณอ่าวไทยที่ขุดกันมากว่า 30 ปี (ข้อมูลจากบริษัทสำรวจขุดเจาะก๊าซฯ-น้ำมันดิบชื่อดังจากต่างประเทศ)
รัฐบาลนายเศรษฐาวางไทม์ไลน์ว่าการเจรจากับกัมพูชาต้องสำเร็จภายใน 18 เดือน เป็นอย่างช้า (นับจากเดือน ม.ค.67) เพราะกว่าจะเจรจา-เซ็นสัญญา-ตั้งบริษัทกลางขึ้นมาบริหารจัดการแบ่งปันผลประโยชน์บนปากหลุมที่ขุด ฝ่ายละ 50:50 เหมือน “แหล่งก๊าซเจดีเอ” ไทย-มาเลเซีย ทำกันมาเป็น 10 ปี แล้ว
คือเมื่อเซ็นสัญญา ผ่านขั้นตอนต่างๆ กว่าจะขุดก๊าซฯ-น้ำมันดิบขึ้นมา ต้องใช้เวลาเร็วสุดอีก 5 ปี
ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 67 สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. ยังต้องใช้ก๊าซฯ สูงถึง 62.45% รองลงมาคือถ่านหิน 19.08% พลังงานหมุนเวียน 17.35% น้ำมันดีเซล 0.02% น้ำมันเตา 0.17% อื่นๆ 0.93%
ปัจจุบันก๊าซฯที่ขุดในอ่าวไทยกว่า 30 ปี นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลดน้อยลงไปทุกวัน ดังนั้นช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงต้องนำเข้าก๊าซฯ LNG จากตะวันออกกลาง เข้ามาเสริมในกำลังการผลิตไฟฟ้า และก๊าซฯ LNG มีราคาผันผวนมาโดยตลอดตามสถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลาง
ขณะเดียวกันกลุ่ม ปตท. มีโรงแยกก๊าซฯ 6-7 โรง เพื่อแยกก๊าซฯ ที่ขุดได้จากอ่าวไทย มาเข้ากระบวนการแยกก๊าซฯป้อนไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท
ดังนั้น ถ้าไม่มีแหล่งก๊าซฯ ในราคาที่เหมาะสม ไม่ผันผวน สามารถขุดขึ้นมาใช้ได้ยาว 20-30 ปี ก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยเฉพาะราคาค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น เป็นภาระกับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“เสือออนไลน์” จึงขอขมวดปมให้คนไทยโปรดฉุกคิดไว้ว่า ..
1. เราเคยได้รับบทเรียนจากการปั่นกระแส “เขาพระวิหาร” ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเสียเวลาเปล่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ทุกวันนี้ไทย-กัมพูชาค้าขายกันปีละเกินแสนล้านบาท ประชาชนสองประเทศเดินทางข้ามไปมาหากันปกติ แล้วจะปั่นกระแส “เกาะกูด” ซึ่งมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ และเป็นอำเภอของ จ.ตราด มานานแล้ว กันเพื่ออะไร?
2. เส้นเขตแดนในทะเล เป็นสิ่งที่พิสูจน์ยาก อาจจะต้องใช้เวลา 50-100 ปี ยังหาข้อสรุปกันไม่จบ! หากฝ่ายไทยจะขุดก๊าซฯ-น้ำมันดิบ ขึ้นมาใช้คนเดียว ทางกัมพูชาก็ไม่ยอมแน่ๆ แต่ถ้ากัมพูชาจะขุดขึ้นมาใช้คนเดียว ก็ต้องสู้รบกัน แล้วจะปล่อยให้ก๊าซฯ-น้ำมันดิบจมอยู่ใต้ท้องทะเลไปเรื่อยๆ เพื่ออะไร?
3. บางพรรคการเมืองกำลังปั่น! ให้ยกเลิก “เอ็มโอยู 2544” เพราะกลัวประเทศไทยจะเสียพื้นที่ในทะเล เสีย “เกาะกูด” เหมือนการเสีย “เขาพระวิหาร” เมื่อปี 2505 แล้วทำไม? สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำรัฐบาล จึงไม่ยกเลิก “เอ็มโอยู 2544” ไปเสีย!
4. นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงว่าเกาะกูดเป็นของไทย ไม่มีใครยกเกาะกูดให้กัมพูชาได้ ไม่เคยได้ยินกัมพูชาเรียกร้องสิทธิเหนือเกาะกูด ขอให้เลิกปั่นกระแสไทยเสียเกาะกูด เป็นความเท็จ ไม่มีใครทำให้เสียดินแดน
5. เอ็มโอยู 2544 ลงนามโดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศ เป็นกรอบการเจรจาเรื่องพื้นที่ทางทะเล และพื้นที่พัฒนาร่วม เนื่องจากไทย-กัมพูชาอ้างสิทธิในเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ทั้งสองประเทศเลือกใช้วิธีเจรจาการทูต เป็นที่มาเอ็มโอยู 2544 เพื่อวางกรอบเจรจาบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ ที่สำคัญการเจรจาเอ็มโอยู 2544 ไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของไทยและกัมพูชา ถ้าเจรจาไม่สำเร็จก็ไม่กระทบสิทธิไทย-กัมพูชา
กลไกเจรจาตามเอ็มโอยู 2544 ทำโดยคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (เจทีซี) คนเจรจาคือ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นมือหนึ่งกฎหมายของประเทศ มีตัวแทนกองทัพ กระทรวงพลังงาน คนอื่นไปเจรจาไม่ได้ นายกรัฐมนตรีก็ไม่เกี่ยวข้องการเจรจา การเจรจาในระดับเจทีซีได้อย่างไร ต้องนำมาเข้าสภาพิจารณาก่อน ไม่สามารถไปเซ็นข้อตกลงกับกัมพูชาได้ รัฐบาลไม่สามารถงุบงิบทำได้
การปั่นกระแส “เขาพระวิหาร-เกาะกูด” คือใบเบิกทางให้คนไทยทั้งประเทศประสบกับความยากลำบากและเดือดร้อนในอนาคต จากปัญหาค่าไฟฟ้าแพง!.
เสือออนไลน์