ซ้ำรอยของเก่าถูก BEM เช็คบิล "สร้างทางแข่งขัน" อ่วม
…
คนไทยเตรียมรับค่าโง่แสนล้านอีกระลอก หลังทางหลวง-คมนาคมไม่เข็ด ชงสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์เฟส 2 ขยายเส้นทางรังสิต-บางปะอิน 3.2 หมื่นล้าน ซ้ำรอยโครงการเดิม จ่อถูก BEM ฟ้องค่าชดเชยทางด่วนขั้นที่2 บางปะอิน-ปากเกร็ดอีกระลอก
จากการที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้เสนอแผนก่อสร้างส่วนต่อขยายโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) M5 ช่วงรังสิต – บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาท ให้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยอยู่ระหว่างการรอบรรจุวาระและรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรูปแบบโครงการดังกล่าวจะเปิดให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและจัดเก็บค่าผ่านทางระยะเวลาสัมปทาน 30 ปีนั้น
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ เฟส 2 ดังกล่าว จะก่อให้เกิดค่าโง่นับแสนล้านบาทตามมาอย่างแน่นอน หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบออกไป เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างทางด่วนมอเตอร์เวย์ที่เป็นทางแข่งขันที่ขัดสัญญาสัมปทานโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนเหนือ (บางปะอิน-ปากเกร็ด) ที่บริษัท NECL บริษัทย่อยของ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้รับสัมปทานอยู่ และยังคงมีสัญญาสัมปทานอยู่กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปจนถึงปี 2578
*ถอดบทเรียนค่าโง่ กทพ. - ดอนเมืองโทลล์เวย์
ก่อนหน้านี้ กรมทางหลวง ได้เคยมีบทเรียนจากการก่อสร้าง และขยายทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานถึงรังสิต เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการจราจร หน้าสนามบินดอนเมือง และถูกบริษัท NECL ฟ้องร้องให้รัฐบาลและ กทพ. ต้องชดเชยความเสียหายจากการสร้างทางแข่งขัน จนทำให้ปริมาณจราจรไม่เป็นไปตามคาดการณ์ส่งผลต่อรายได้ของบริษัท จนนำไปสู่ข้อพิพาท และนำคดีขึ้นสู่ศาลที่มีมูลหนี้กว่า 78,900 ล้านบาท และต้องลงเอยด้วยการที่รัฐบาลและ กทพ. ต้องยอมต่อขยายสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทถึง 15 ปี 8 เดือน จากเดิมที่สิ้นสุดปี 2562 ออกไปเป็นปี 2578 เพื่อแลกกับการยุติคดีฟ้องร้อง
การที่กรมทางหลวงผุดโครงการก่อสร้างและขยายทางพิเศษอุตราภิมุข หรือ ดอนเมืองโทลเวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อขยายเส้นทางจากโครงการเดิม (อนุสรณ์สถาน-รังสิต) ซึ่งเป็นการเจริญรอยตามโครงการเดิมทุกกระเบียดนิ้ว มีแนวโน้มว่า หากโครงการต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จนนำไปสู่การประมูลก่อสร้าง บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ตอนเหนือ ก็คงจะหยิบยกกรณีขึ้นมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการสร้างทางแข่งขันอีกหนอย่างแน่นอน เพราะคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานเอาไว้อย่างชัดเจน ถึงกรณีที่รัฐบาลจัดสร้างทางแข่งขัน จนเป็นเหตุให้เอกชนผู้รับสัมปทานเดิมได้รับความเสียหาย
*ครม.ขึ้นเขียง-คนไทยใช้หนี้ค่าโง่แสนล้าน!
"หาก ครม.ชุดนี้ อนุมัติโครงการก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงรังสิต บางปะอิน เมื่อไหร่ นายกฯ และรัฐมนตรีทั้งคณะก็เตรียมพาเหรดขึ้นเพียง ป.ป.ช. แบบกรณีจำนำข้าวกันได่เลย ขณะที่คนไทยและการทางพิเศษฯ ก็เตรียมรับค่าโง่แสนล้านที่จะมีตามมาเช่นกัน เพราะกรณีนี้มีบทเรียนจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว จึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม จึงไม่จดจำบทเรียนค่าโง่ในอดีต ที่เกิดจากการสร้างทางแข่งขันในลักษณะเช่นนี้ และยังคงมีความพยายามจะสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลขึ้นมาอีก"
*กทพ.-คมนาคม จ้องปลุกผีทางยกระดับ
ส่วนความพยายามของกระทรวงคมนาคม และ กทพ. ในการกระเตงข้อเสนอก่อสร้างทางยกระดับ Double Deck ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทาง 17 กม. วงเงิน 34,900 ล้าน ที่จะให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เพื่อแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานให้แก่ BEM อีก 22 ปี 5 เดือน โดยไม่ฟังข้อทักท้วงของสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้มีหนังสือคัดค้าน และสั่งให้ กทพ. ชี้แจงกรณีดังกล่าวด้วยเห็นว่า เอื้อเอกชนและส่อทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์นั้น
แหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่จริงข้อเสนอก่อสร้างทางยกระดับ Double Deck ดังกล่าว เคยมีความพยายามจะนำเสนอตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว โดยพ่วงกับแนวทางการระงับข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และ BEM โดยก่อนหน้านั้นบอร์ด กทพ. ได้เห็นชอบกับแนวทางการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่กับ BEM วงเงินกว่า 130,000 ล้านบาท โดยเห็นชอบให้ขยายสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทระยะเวลา 30 ปี แลกกับการระงับและยุติข้อพิพาททั้งหลายที่มี รวมทั้งให้บริษัทก่อสร้างทางยกระดับ Double Deck ดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561 ได้เห็นชอบกับแนวทางการขยายสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทระยะเวลา 9-15 ปี โดยขยายเฉพาะสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และส่วน C เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน และทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน กับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด เป็นเวลา 9 ปี 1 เดือน โดยให้สิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค. 2578 โดยไม่มีการพิจารณาข้อเสนอต่อขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เพิ่มเติมจากกรณีการก่อสร้างทางยกระดับ Double Deck เนื่องจากไม่อยู่ในข้อพิพาทตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และเป็นเพียงข้อเสนอเพิ่มเติมที่มาจากบริษัทเท่านั้น จึงทำให้ไม่มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาดำเนินการใดๆ กระทั่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรมว.กระทรวงคมนาคม สั่งการเป็นนโยบายขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปลายปี 2566 จึงมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาดำเนินการต่ออย่างต่อเนื่อง
"ที่จริง แม้กระทรวงคมนาคม จะไม่มีการหยิบยกกรณีก่อสร้างทางยกระดับ Double Deck ขึ้นมาดำเนินการ ก็เชื่อแน่ว่าในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 3-5 ปีจากนี้ การทางพิเศษฯ หรือ กทพ. และรัฐบาลก็คงจะถูกบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ยื่นข้อเรียกร้องใหม่ ให้ กทพ. ชดเชยรายได้จากการขยายทางด่วนพิเศษระหว่างเมือง ในโครงการทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) ช่วงรังสิต-บางปะอิน อยู่ดี"
*ย้อนรอย "ค่าโง่ ทางด่วน-โทลล์เวย์"
ตามสัญญาข้อ 16 กำหนดว่า ในระหว่างระยะเวลาของสัญญา หาก กทพ. หรือรัฐบาลมีการก่อสร้างหรือปรับปรุงทางหรือถนนจนมีมาตรฐานเช่นเดียวกับทางพิเศษ ภายในขอบเขตพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับทางพิเศษ และส่งผลกระทบทำให้ปริมาณการจราจรหรือรายได้ค่าผ่านทางพิเศษลดลงจากประมาณการ กทพ. ต้องชดเชยผลกระทบแก่บริษัทย่อย (NECL)
การที่รัฐอนุญาตให้มีการก่อสร้างส่วนต่อขยายโครงการทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงระหว่างอนุสรณ์สถาน ถึงรังสิต ถือเป็นทางแข่งขันตามสัญญา และส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทย่อย บริษัทย่อยจึงเรียกร้องให้ กทพ. ชดเชยผลกระทบดังกล่าวตามที่วิศวกรอิสระได้มีหนังสือรับรองผลกระทบที่บริษัทย่อยได้รับ
27 พฤศจิกายน 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทให้ กทพ. ชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงจากประมาณการให้แก่บริษัทย่อย สำหรับปี 2542 จำนวน 730.8 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย และสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059.2 ล้านบาท และบริษัทได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยมีทุนทรัพย์เรียกร้อง 3,296.7 ล้านบาท
3 พฤษภาคม 2556 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้ กทพ. ชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงจากประมาณการแก่บริษัทย่อย สำหรับปี 2542 จำนวน 730.8 ล้านบาท และสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059.2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
แม้ กทพ. ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ในท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อ 21 กันยายน 2561 ให้ กทพ. ชดเชยรายได้จากผลกระทบที่เกิดจากรัฐสร้างทางแข่งขันสำหรับปี 2542-43จำนวน 4,300 ล้านบาท
และบริษัทยังใช้ตัวเลขชดเชยรายได้ดังกล่าว ในฐานเรียกร้องความเสียหายจากการขาดรายได้จนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2561 รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 78,900 ล้านบาท
ก่อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเห็นชอบกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการให้ กทพ. ขยายสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทเป็นระยะเวลา 9-15 ปีในที่สุด