มหากาพย์ที่ดินบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กว่า 5,000 ไร่ เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือเป็นของชาวบ้าน และครอบครัวนักการเมืองที่ครอบครองอยู่อาศัยทำกินจนกระทั่งได้ “โฉนด”
หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อน มีข่าวคณะกรรมการสอบสวนฯ ของกรมที่ดิน มีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง เนื้อที่ 5,083 ไร่ โดยระบุว่า รฟท. ไม่มีหลักฐานใหม่ ทั้งที่กรณีดังกล่าว รฟท. เคยนำเข้าสู่ศาลยุติธรรม และต่อสู้กันไปถึงชั้นฎีกา แล้ว รฟท. เป็นฝ่ายชนะคดี
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า เพิ่งได้เอกสารแจ้งจากกรมที่ดิน เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 67 ส่วน รฟท. จะดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และจะต้องหารือกับกระทรวงคมนาคมด้วย
ส่วนกรณีคณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่าหาก รฟท. มีสิทธิในที่ดินเขากระโดง จะต้องไปดำเนินการพิสูจน์สิทธิในกระบวนการทางศาล นั้น นายวีริศกล่าวว่า เท่าที่ได้อ่านหนังสือที่ส่งมา สรุปได้ 5 ประเด็น เช่น มีการระบุว่า รฟท.ไม่มีหลักฐานใหม่ เป็นการรังวัดที่ดินตามมติ ครม. ปี 2539 ซึ่งเรื่องนี้ ในเมื่อแผนที่ดังกล่าว รฟท.เคยนำเข้าสู่ศาลยุติธรรมแล้ว และสู้กันไปถึงชั้นฎีกา แล้ว รฟท. ชนะ จึงยังงงๆ อยู่
เช่นเดียวกัน กรณีที่มีการระบุว่า รฟท. เป็นผู้มีส่วนได้เสีย คือ มีชาวบ้านเข้าครอบครองที่ดินของ รฟท. ดังนั้น รฟท. ที่ถือว่าอยู่อีกฝั่งหนึ่ง แต่เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการสอบสวนฯ ตามมาตรา 61 ด้วยนั้น จะเหมาะสมหรือไม่ แต่ทาง รฟท. ก็มีคำถามกลับไปเช่นกันว่า แล้วกรมที่ดินจะไม่มีส่วนได้เลยหรืออย่างไร กรมที่ดินอาจมีส่วนได้เสียก็ได้ เพราะเป็นผู้ที่ออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ ต้องดูว่า เหตุผลต่างๆ ของอธิบดีกรมที่ดิน ถูกต้องเหมาะสมทุกอย่างหรือเปล่า แล้วรถไฟฯ จะดำเนินการอย่างไร เพราะอธิบดีกรมที่ดินบอกว่า พื้นที่ต่างๆ ที่ไปศึกษาจากทางประวัติศาสตร์ มันควรจะวัดจากแนวรางรถไฟ 20-30 วา อะไรอย่างนี้ อย่างที่สรุปมา ตนก็ไม่ค่อยเข้าใจ
แต่บางคนบอกว่า พื้นที่ตรงนั้นเป็นแหล่งหินที่ดีที่สุดของประเทศ และหินตรงนั้นจะนำมาเพื่อใช้ก่อสร้างทางรถไฟ เป็นพระราชปณิธาน จึงต้องไปดูว่า อันไหนถูกต้องกันแน่
ทางด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า คำสั่งศาลฎีกา ในประเทศไทยถือว่าศาลฎีกาสูงสุด ถ้าจะเปลี่ยนคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ต้องให้ศาลฎีกาเปลี่ยนคำวินิจฉัย จะไม่มีใครใหญ่กว่าคำพิพากษาศาลฎีกา ในเรื่องของคณะกรรมการฯต้องไปตรวจสอบดู แม้แต่ศาลปกครองก่อนที่จะไปถึงตามมาตรา 66 ชี้ว่าที่ดินแห่งนี้เป็นที่ดินของรัฐอยู่แล้ว เราต้องอยู่ในหลักนิติธรรม
“เรื่องนี้ไม่ใช่ศาลฎีกาอย่างเดียว กฤษฎีกาก็วินิจฉัยแล้ว ป.ป.ช.ก็วินิจฉัยแล้ว จึงถือว่าสิ้นสุด ที่สำคัญมีการบังคับคดีและยึดที่คืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ 5,083 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ จึงเป็นเรื่องของการรถไฟฯ ที่ต้องดำเนินการต่อ” รมว.ยุติธรรม ระบุ
ขณะที่ นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวชี้แจงถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ผลสรุปกรมที่ดินกรณีที่ดินเขากระโดง ว่าในส่วนของกรมที่ดินทำ ทำอยู่ 3 ส่วน โดยส่วนแรกทำตามคำสั่งศาลปกครอง ส่วนที่ 2 ทำตามข้อกฎหมายไม่มีส่วนใดใช้เรื่องดุลยพินิจ และส่วนที่ 3 ทำไปตามข้อเท็จจริงที่มีพยานหลักฐานและกฎหมายที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นทุกอย่างสามารถตรวจสอบในเรื่องการดำเนินการได้
เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยอยู่ในพรรคภูมิใจไทย จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการฟอกขาวให้ผู้ครอบครองที่ดินเขากระโดงหรือไม่ อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวยืนยันว่า กระบวนการที่ดำเนินมาทำตั้งแต่ก่อนที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย จะเข้ามา การตั้งคณะกรรมการมีการตั้งก่อน และการหาเอกสารพยานหลักฐานในการดำเนินการก็ทำมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ตนจึงยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครอง ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย
ส่วน นายอนุทิน กล่าวย้ำว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย โดยได้บอกกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยมาโดยตลอดว่า ให้ว่ากันตามเนื้อผ้า ว่ากันตามกฎหมาย และกฎระเบียบ ไม่มีแทรกแซง ไม่มีความกดดันใดๆ โดยคณะกรรมการที่ศึกษาเรื่องที่ดินเขากระโดงแต่งตั้งขึ้นก่อนที่ตนจะเป็น รมว.มหาดไทย ตนมาในเดือน ก.พ. 66 แต่คำพิพากษามีมาตั้งแต่ปี 60-61 ก่อนตนเข้ารับตำแหน่ง 6 ปี
“เรื่องนี้จบที่กรม จบที่คำสั่งศาล หากใครมีประเด็นก็ไปฟ้องศาล พื้นที่เขากระโดงมีพื้นที่ 5 พันกว่าไร่ เท่าที่ทราบตระกูลชิดชอบมีอยู่ 300 ไร่ แล้วอีก 4,700 ไร่ล่ะ จะผิดแค่ 300 ไร่ ได้อย่างไร หากเป็นอย่างนั้นก็ไปพิสูจน์เอา ไม่เกี่ยวกับ รมว.มหาดไทย ไม่ใช่อำนาจในการเพิกถอนหรืออนุญาต อยากจะยุ่งก็ยุ่งไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ” นายอนุทิน กล่าว
เสือออนไลน์