โอกาสในการลงทุน SAF ของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของไทยเป็นอย่างไร?
สำหรับโอกาสในการลงทุน SAF ของประเทศไทยมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐได้บรรจุ SAF เข้าไปใน (ร่าง) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP2024) เพื่อนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยจะกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุนสำหรับการผลิต SAF เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก รวมทั้งเตรียมออกมาตรการส่งเสริมการใช้ SAF โดยมีเป้าหมายสัดส่วนการผสม SAF อยู่ที่ 1% ในปี 2569 และจะเพิ่มเป็น 2% ในปี 2570-2572 โดยใช้เทคโนโลยี HEFA จากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วเป็นหลัก หลังจากนั้นจะใช้เทคโนโลยี HEFA ร่วมกับเทคโนโลยี ATJ จากกากน้ำตาลเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าในปี 2579 เป็นต้นไป จะมีสัดส่วนการผสม SAF อยู่ที่ 8% หรือราว 1.9 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของไทย เพื่อรองรับความต้องการ SAF ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับโครงการศึกษาแนวทางการส่งเสริมเชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า เทคโนโลยี Oil to Jet เช่น HEFA และเทคโนโลยี Alcohol to Jet เป็นเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมสำหรับประเทศไทย อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี Oil to Jet เป็นเทคโนโลยีที่มีความน่าสนใจมากที่สุด โดยมีปัจจัยหนุน ดังนี้
1) ไทยมีวัตถุดิบชีวมวลและน้ำมันที่เหลือจากการทำอาหารภายในประเทศเป็นจำนวนมาก
2) ไทยมีตัวอย่างการผลิตนำร่องด้วยการใช้เทคโนโลยีการกลั่นน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ศูนย์วิจัยเชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวลของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
ซึ่งปัจจุบัน เริ่มมีผู้ประกอบการไทยลงทุนผลิต SAF เช่น PTTGC กำลังปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันดิบเพื่อรองรับการผลิต SAF โดยจะผลิต 5 แสนลิตรต่อวัน ภายในเดือน ม.ค. 2568 และกลุ่มบริษัทบางจากกำลังก่อสร้างหน่วยผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว โดยมีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากผู้ประกอบการไทยลงทุนผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว กรณีกำลังการผลิต 10 ล้านลิตรต่อปี คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 1,500 ล้านบาท และมีระยะเวลาคืนทุนราว 4-5 ปี โดยมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 24.8% ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
สมมติฐาน: โรงงานผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว โดยมีกำลังการผลิต 10 ล้านลิตรต่อปี
ด้านเงินทุน: เงินลงทุนในการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ของโรงงานผลิต SAF ราว 1,500 ล้านบาท อ้างอิงข้อมูลจาก SkyNRG
ด้านผลประโยชน์: ผู้ประกอบการจะมีรายได้จากการขาย SAF มากถึง 744 ล้านบาทต่อปี โดยมีต้นทุนวัตถุดิบน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วและต้นทุนไฮโดรเจนราว 222 และ 68 ล้านบาทต่อปี รวมถึงค่าแรงงานและค่าไฟฟ้าราว 41 และ 11 ล้านบาทต่อปี ตามลำดับ และเมื่อหักค่าบำรุงรักษาที่คิดเป็น 2% ของเงินลงทุน หรือราว 30 ล้านบาทต่อปี จะทำให้ผลประโยชน์สุทธิของโรงงานผลิต SAF อยู่ที่ 372 ล้านบาทต่อปี
จากเป้าหมายการใช้ SAF ของภาครัฐ และการลงทุนของบริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของไทยที่เพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าตลาด SAF ของไทยมีแนวโน้มเติบโต โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2580 มูลค่าตลาด SAF ของไทยจะอยู่ที่ราว 6.3 หมื่นล้านบาท จากในปี 2569 ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 5.4 พันล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 25%CAGR โดยมีวิธีประเมินดังนี้
1) ประเมินมูลค่าตลาด SAF ของไทยตามคาดการณ์ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานของประเทศไทย ซึ่งอ้างอิงจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และเป้าหมายสัดส่วนการใช้ SAF ของไทยตาม (ร่าง) Oil Plan 2024 ซึ่งอยู่ที่ 1% ของเชื้อเพลิงการบินทั้งหมด ในปี 2569 หรือราว 77 ล้านลิตรต่อปี และจะเพิ่มเป็น 2%, 3%, 5% และ 8% ในปี 2570-2572, ปี 2573-2575, ปี 2576-2578 และปี 2579-2580 ตามลำดับ
2) ราคาขาย SAF ในปี 2569 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 70 บาทต่อลิตร และจะลดลงราว 1% ต่อปี ตามทิศทางต้นทุนการผลิต SAF ที่มีแนวโน้มลดลง
หากสายการบินของไทยหันมาใช้ SAF มากขึ้นจะช่วยลด Emissions มากแค่ไหน
ในปี 2566 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งทางอากาศของไทยอยู่ที่ราว 20 ล้านตัน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากสายการบินของไทยมีการเปลี่ยนมาใช้ SAF มากขึ้น จะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งทางอากาศของประเทศ โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันในการสนับสนุนการใช้ SAF ตาม (ร่าง) Oil Plan 2024 ที่กำหนดเป้าหมายการใช้ SAF ในสัดส่วน 8% ในปี 2580 จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 2.3 ล้านตันต่อปี หรือราว 11% ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งทางอากาศของไทย ซึ่งเทียบเท่าการปลูกป่ามากถึง 188 ล้านต้นต่อปี คิดเป็นพื้นที่ป่า 1.9 ล้านไร่ หรือเกือบ 2 เท่าของพื้นที่กรุงเทพฯ
โดยประเมินปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงจากการใช้ SAF ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก CORSIA Default Life Cycle Emissions Values ของ ICAO ระบุว่า ค่าสัมประสิทธิ์ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กรณี SAF ที่ผลิตมาจากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วอยู่ที่ 13.9 gCO2e/MJ ขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิลอยู่ที่ 89 gCO2e/MJ โดยอัตรา Fuel Conversion Factor ของเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิลอยู่ที่ 3.16 kgCO2/kg fuel ซึ่งหากกำหนดให้ในปี 2580 สายการบินของไทยใช้ SAF ที่ผลิตจากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วในสัดส่วน 8% ของเชื้อเพลิงการบินทั้งหมด หรือราว 998 ล้านลิตรต่อปี หรือราว 848,232 ตันต่อปี จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 2.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593
หมายเหตุ:
- Krungthai COMPASS มองว่า การผลักดันให้มีการผลิตและการใช้ SAF มากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ SAF ยังมีความท้าทายและต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ดังนี้
• ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบินของไทยควรวางแผนและให้ความสำคัญกับการใช้ SAF เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิต SAF ภายในประเทศ เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและสนับสนุนการพัฒนาวัตถุดิบในการผลิต SAF นอกจากนี้ ควรผลักดันให้สายการบินกำหนดเป้าหมายการใช้ SAF ที่มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงสร้างความตระหนักแก่ผู้โดยสารเกี่ยวกับความสำคัญของ SAF ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสายการบินและสนับสนุนการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพที่ยั่งยืน
• ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพควรลงทุนในเทคโนโลยีการผลิต SAF รวมทั้งสร้างเครือข่ายในการจัดหาและการผลิต SAF ที่ยั่งยืน โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพควรวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต SAF ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งอาจพิจารณาการผลิต SAF จากวัตถุดิบที่หลากหลาย เพื่อลดข้อจำกัดด้านวัตถุดิบภายในประเทศ นอกจากนี้ ควรร่วมมือกับเกษตรกร ภาคครัวเรือน รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมโรงแรม เพื่อรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วและวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการรวบรวมวัตถุดิบในการผลิต SAF รวมทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
• ภาครัฐควรสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต SAF รวมทั้งออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ SAF อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากในปัจจุบัน ต้นทุนการผลิต SAF สูงกว่าเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิลถึง 3-4 เท่า ดังนั้น ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต SAF ควบคู่ไปกับการออกมาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น การให้เงินอุดหนุนการผลิต SAF มาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต SAF หรือมาตรการปรับลดอัตราภาษีสำหรับสายการบินที่เลือกใช้ SAF มากขึ้น เป็นต้น เพื่อให้ต้นทุนการผลิต SAF ลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้มีการผลิตและการใช้ SAF ภายในประเทศมากขึ้น