ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เกาะติดความไม่ขอบมาพากลในการขยายสัมปทานทางด่วนให้เอกชนว่า..
หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า ค่าผ่านทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) จะถูกลง เพราะรัฐเตรียมที่จะขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ให้เอกชนออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ แม้ไม่ขยายสัมปทาน ค่าผ่านทางก็ถูกลงได้ !
กระทรวงคมนาคมต้องการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ลดค่าผ่านทางด่วนศรีรัชช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ซึ่งเวลานี้มีค่าผ่านทางสูงสุดสำหรับรถ 4 ล้อ 90 บาท เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน
การลดค่าผ่านทางดังกล่าว จะทำให้รายได้ค่าผ่านทางลดลงประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่มีรายได้ประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อปี ลดลงเหลือประมาณ 11,500 ล้านบาทต่อปี
รายได้เดิมประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นของ กทพ. และเอกชนผู้รับสัมปทานตามสัดส่วน ดังนี้
(1) รายได้จากทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ส่วน A (ถนนรัชดาภิเษก-ทางแยกต่างระดับพญาไท-ถนนพระราม 9) และส่วน B (ทางแยกต่างระดับพญาไท-บางโคล่) เป็นของ กทพ. 60% และของเอกชน 40%
(2) รายได้จากทางด่วนศรีรัช ส่วน C (ถนนรัชดาภิเษก-ถนนแจ้งวัฒนะ) และส่วน D (ถนนพระราม 9-ถนนศรีนครินทร์) รวมทั้งทางด่วนอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) เป็นของเอกชนทั้งหมด 100%
การแบ่งรายได้เดิมตามสัดส่วนดังกล่าว ทำให้ กทพ. ได้รับรายได้ประมาณ 6,300 ล้านบาทต่อปี และเอกชนได้รับประมาณ 6,700 ล้านบาทต่อปี
หากลดค่าผ่านทางลงจะทำให้รายได้ลดลงเหลือประมาณ 11,500 ล้านบาทต่อปี โจทย์สำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้เอกชนได้รับรายได้เท่าเดิม ? เพื่อที่ กทพ. ไม่ต้องชดเชยให้เอกชน เช่น ด้วยการขยายสัมปทาน เป็นต้น
กทพ. จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการแบ่งรายได้จากทางด่วนเฉลิมมหานคร และทางด่วนศรีรัช (ส่วน A และ B) ด้วยการยอม “เฉือนเนื้อตนเอง” จากเดิม กทพ. ได้รับ 60% เอกชนได้รับ 40% เป็น กทพ. ได้ 50% เอกชนได้ 50% ส่วนสัดส่วนการแบ่งรายได้จากทางด่วนศรีรัช (ส่วน C และ D) รวมทั้งทางด่วนอุดรรัถยายังคงเหมือนเดิม กล่าวคือเอกชนได้รับทั้งหมด 100%
การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการแบ่งรายได้ดังกล่าว ทำให้ กทพ. ได้รับรายได้น้อยลงเหลือประมาณ 4,800 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่เอกชนยังคงได้รับรายได้เท่าเดิม นั่นคือประมาณ 6,700 ล้านบาทต่อปี เป็นผลให้ กทพ. ไม่ต้องชดเชยให้เอกชนด้วยการขยายสัมปทาน
ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า กทพ. ไม่จำเป็นจะต้องขยายสัมปทานให้เอกชน ก็สามารถทำให้ค่าทางด่วนถูกลงได้
หมายเหตุ: ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจง ให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง