คณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567เพื่อขับเคลื่อนแผนงานในปี 2568-2570 มุ่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย พร้อมเปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างโอกาสในการเข้าถึงการลงทุนและการระดมทุนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวให้แก่ประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. โดย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการ คณะกรรมการ ก.ล.ต. พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายอัสสเดช คงสิริ กรรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หารือร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานของทั้ง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568-2570 เพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้สอดคล้องกันและตอบโจทย์การรักษาความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย การเปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ การสร้างโอกาสเพื่อส่วนรวมในการเข้าถึงการลงทุนและการระดมทุนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างประโยชน์ต่อผู้ร่วมตลาดและประชาชนในยุคดิจิทัล สอดรับกับกระแสด้านความยั่งยืน รวมถึงเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวให้แก่ประชาชน
ที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงแนวทางการดำเนินการร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้บทบาทส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น การใช้เทคโนโลยีมาตรวจจับการกระทำผิดและเร่งการบังคับใช้กฎหมาย และเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในตลาดทุนแบบดิจิทัล end-to-end 100% ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการในตลาดทุน (Your data) การยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านความยั่งยืน ผ่านโครงการ Corporate value-up program ที่สร้างแรงจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างมีคุณภาพ และการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศและตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมมือกันให้ความรู้ทางการเงินและเพิ่มจำนวนของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีในระยะยาวให้กับประชาชน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2568 – 2570 ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์อยู่ภายใต้กรอบและกระบวนการที่พิจารณาครอบคลุมปัจจัยต่าง ๆ ในทุกมิติสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้การกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ควบคู่กับการรักษาสมดุลทั้งด้านการกำกับดูแลและด้านการพัฒนาตลาดทุนไทยในทุกมิติ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายหลัก 4 ด้าน ดังนี้
(1) ตลาดทุนมีความน่าเชื่อถือ (Trust & Confidence)
(2) ตลาดทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Technology)
(3) ตลาดทุนเป็นกลไกไปสู่ความยั่งยืน (Sustainable Capital Market)
(4) ผู้ลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี (Financial well-being)
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดให้มีแผนองค์กรซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินงานตามพันธกิจของ ก.ล.ต. (SEC Excellence) เพื่อผลักดันภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้อีกด้วย