ดอนเมืองโทลล์เวย์ ร่อนแถลงการณ์ดีเดย์ปรับขึ้นค่าผ่านทางยกระดับดินแดง-ดินเมือง ตั้งแต่ 90-120 แนะทางหลวงไถ่บาปให้ผู้ใช้ทางล่วงหน้า ประกาศปรับลดค่าผ่านทางล่วงหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ทางด่วนโทลเวย์ ได้เผยแพร่ประกาศล่าสุดของบริษัทว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป บริษัทจะปรับอัตราค่าผ่านทางยกระดับโทลเวย์ ตามที่สัญญาสัมปทานกำหนดเอาไว้ ตามบันทึกข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทาน ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550 สำหรับรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2572
โดยอัตราค่าผ่านทางใหม่ ช่วงดินแดง-ดอนเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับขึ้น 10 บาท (เฉลี่ย 2 บาทต่อปี) และช่วงดอนเมืองถึงอนุสรณ์สถานจะปรับขึ้น 5 บาท (เฉลี่ย 1 บาทต่อปี) จากอัตราปัจจุบัน
โดยทางยกระดับขาออกช่วงดินแดน-ดอนเมือง ตั้งแต่ด่านดินแดง สุทธิสาร ลาดพร้าวขาออก รัชดาภิเษก และด่านบางเขนจะปรับขึ้นเป็น 90 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อและ 120 บาท สำหรับรถยนต์มากกว่า 4 ล้อ ส่วน ด่านขาออกจาก หลักสี่ และอนุสรณ์สถานสถาน ปรับขึ้นเป็น 40 และ 50 บาท
ส่วนขาเข้า จากอนุสรณ์สถานถึงดินแดนงนั้น เฉพาะด่านดอนเมือง เก็บ 130 บาท และ 170 บาท ส่วนด่านขาเข้าแจ้งวัฒนะและลาดพร้าวจัดเก็บที่ 90 บาท และ 120 บาทเท่ากันด่านอื่นๆ
ทั้งนี้ ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ยังคงเหลือสัญญาสัมปทานอยู่กับกรมทางหลวง (ทล.) ไปจนถึงปี 2577 โดยที่บริษัทยังคงสามารถจะปรับขึ้นค่าผ่านทางได้อีก 1 ครั้ง ในช่วง 5 ปีสุดท้ายของสัญญา คือ ในเดือนธันวาคม 2572 โดยจะปรับจาก 90 เป็น 100 บาท สำหรับงบ 4 ล้อ และ 120 เป็น 130 สำหรับรถมากกว่า 400 ขึ้นไป
โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคม เคยมอบนโยบายให้กรมทางหลวง เจรจาขอให้ทางบริษัท ตรึงอัตราค่าโดยสารแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานออกไป แต่อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวทางคณะทำงานของกรมทางหลวง เห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการ อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีข้อทักท้วงว่า การดำเนินการดังกล่าว อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน ทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ จึงได้ล้มเลิกแนวทางดังกล่าวไป โดยคาดว่า กรมทางหลวงจะดึงโครงการดังกล่าว กลับมา บริหารเองหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ในปี 2577
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ 2562 มาตรา 49 กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของสัมปทาน จะต้องดำเนินการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการโครงการหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ว่า จะยังคงให้เอกชนรับสัมปทานต่อไป หรือเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่ เข้ามาดำเนินการ หรือว่าจ้างเอกชนเข้ามาจัดเก็บค่าผ่านทาง
"แนวทางที่เหมาะสมนั้น กรมทางหลวง โดยสำนักพิเศษระหว่างเมือง น่าจะเป็นผู้ดำเนินการเองโดยตรงได้ เนื่องจากมีบุคลากรและความพร้อมอยู่แล้ว และ ทล. ถือโอกาสนี้ เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจต่อผู้ใช้บริการถึงเหตุผลที่ไม่สามารถจะระงับบริษัทไม่ให้ปรับค่าผ่านทางได้ เพราะจะยิ่งทำให้เอกชนฉวยโอกาสต่อขยายสัญญาสัมปทานออกไปไม่สิ้นสุด รวมทั้งถือโอกาสนี้ประกาศปรับลดค่าผ่านทางล่วงหน้า เมื่อโครงการกลับมาอยู่ในมือกรมทางหลวงแล้ว เพื่อให้ประชาชนอดทนรอให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุด โดยไม่ต้องไปเจรจาขอให้บริษัทชะลอการปรับราคาเพื่อแลกกับการขยายสัญญาสัมปทาน"