นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ขับเคลื่อนการการดำเนินงานตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมุ่งเน้นนโยบายหลักที่จะทำให้“เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” เพื่อสร้างรายได้ โอกาส สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมให้เกษตรกรไทย โดยศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ กรมวิชาการเกษตร ได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้"การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ" ให้แก่เกษตรกร โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการผลิตอะโวคาโดในพื้นที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ให้สามารถผลิตอะโวคาโดคุณภาพสูง และส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน เนื่องจากการปลูกอะโวคาโดในประเทศไทยนั้นมีการปลูกมานานเกือบ 80 ปีโดยเริ่มปลูกจากเมล็ด ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ไม่สามารถจัดการผลผลิตที่มีคุณภาพได้ รวมถึงเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ในการจัดการโรค และแมลงศัตรูพืช การเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีเรื่องการขยายพันธุ์ การจัดการพันธุ์ดี การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยว
นางสาวเมรินทร์ บุญอินทร์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ ได้ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในโครงการส่งเสริมการปลูกอะโวคาโด ณ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีเกษตรกรจากตำบลหนองแม่นา ตำบลสะเดาะพง และตำบลเขาค้อ เข้าร่วมการอบรม โดยเนื้อหาการอบรมครอบคลุมตั้งแต่ ประวัติของอะโวคาโด สายพันธุ์ที่เหมาะสม การปลูกและการดูแลรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวและการขยายพันธุ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดการโรคและแมลงศัตรูอะโวคาโด แนวทางป้องกันและกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอะโวคาโดเป็นพืชที่ต้องการการดูแลอย่างพิถีพิถัน หากการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสมจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิต
สำหรับโรคที่พบได้บ่อยในอะโวคาโดซึ่งเป็นปัญหาที่เกษตรกรควรให้ความสำคัญคือ โรครากเน่า เกิดจากเชื้อราที่มักพบในแหล่งปลูกที่มีการระบายน้ำไม่ดี พื้นที่มีน้ำท่วมขังหรือมีความชื้นสะสมเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อราสามารถเข้าสู่ระบบรากของต้นอะโวคาโดผ่านทางบาดแผลที่เกิดจากการทำลายของแมลงอาการของโรครากเน่าใบเล็กลงกว่าปกติใบมีสีเขียวอมเหลืองและเหี่ยวเฉาผลมีขนาดเล็กกว่าปกติ ผลผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด วิธีป้องกันและกำจัดโรครากเน่า ให้เลือกแหล่งปลูกที่มีการระบายน้ำดีหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่น้ำท่วมขังหรือน้ำซึมยาก ใช้ต้นตอที่ทนทานต่อโรครากเน่าเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของต้น ควบคุมการเกิดโรคด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาโดยใช้ในอัตรา 50-100 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ราดดินบริเวณโคนต้นและฉีดพ่นให้ทั่วต้น พ่นทุก 10-15 วัน เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราในระยะยาว
ส่วนโรคใบจุดดำหรือโรคแอนแทรคโนส เกิดจากเชื้อรา ซึ่งส่งผลกับใบ กิ่ง และผลอ่อนของอะโวคาโด โดยเฉพาะในช่วงที่ผลเริ่มสุก โรคนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง เกษตรกรอาจพบจุดสีน้ำตาลที่ผลดิบและถ้าเชื้อราลามเข้าสู่เนื้อผล จะทำให้ผลร่วงหล่นก่อนถึงระยะเก็บเกี่ยว วิธีป้องกันและกำจัด ในช่วงฤดูฝนควรฉีดพ่นยาป้องกันและกำจัดเชื้อรา เช่น ไซเนปผสมมาเนป เพื่อป้องกันการระบาดของโรค หรือใช้สารเคมี เบนเลท ในอัตรา 30-50 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร (หรือ 2-3 ช้อนแกงต่อน้ำ 10 ลิตร) ฉีดพ่นทุกๆ 10-14 วัน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อราและควบคุมการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การปฏิบัติตามแนวทางการจัดการโรคและแมลงอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตอะโวคาโดที่มีคุณภาพสูง ลดความเสียหายจากโรคและแมลง และเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งจากการเปรียบเทียบเทคโนโลยีการผลิตอะโวคาโดคุณภาพของกรมวิชาการเกษตรกับวิธีของเกษตรกร พบว่า การผลิตอะโวคาโดคุณภาพของกรมวิชาการเกษตร มีต้นทุนด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในแปลง 6,690 บาท/ไร่ แต่ได้ปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพมากกว่า 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบราคาจำหน่ายผลแก่ การผลิตอะโวคาโดคุณภาพของกรมวิชาการเกษตรสามารถจำหน่ายได้ในราคา 50 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้ 274,560 บาท/ไร่ ส่วนผลผลิตอะโวคาโดตามวิธีของของเกษตรกรจำหน่ายได้ในราคา 35 บาท/ไร่ เกษตรกรมีรายได้ 92,550 บาท/ไร่”
สำหรับเกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยีการผลิตอะโวคาโดคุณภาพตามกรรมวิธีของกรมวิชาการเกษตร สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ โทรศัพท์ 08-9272-0061