นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขอมอบของขวัญปีใหม่ของกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นการส่งความสุขให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ดังนี้
• Easy E-Receipt 2.0
ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 ได้สูงสุด 50,000 บาท โดยนำ e-Tax Invoice เต็มรูปแบบ และ e-Receipt มาใช้ลดหย่อนภาษีสำหรับปีภาษี 2568 ได้
- ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับสินค้าและบริการทั่วไป (ยกเว้น สุรา ยาสูบ น้ำมัน ก๊าซ รถยนต์และจักรยานยนต์ ค่าสาธารณูปโภค ค่าเบี้ยประกัน ค่าบริการนำเที่ยว/ค่าที่พัก)
- ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีกไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้า OTOP สินค้าหรือบริการของวิสาหกิจชุมชน และสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจเพื่อสังคม
• โครงการ “คุณสู้ เราช่วย”
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็ก ที่มีวงเงินไม่สูงมาก แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ (ชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการฯ) ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเหลือสำหรับดำรงชีพเพิ่มเติมและช่วยให้ภาระหนี้โดยรวมของลูกหนี้ลดลง
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น
มาตรการที่ 3 ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางของ SFIs ช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ผ่านการลดดอกเบี้ย ให้สินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยต่ำ และให้รางวัลกับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระดี รวมถึงการพักชำระเงินต้นและการไม่คิดดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ
มาตรการที่ 4 ช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ประกอบการ Non-Banks ช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางของผู้ประกอบการ Non-Banks ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีหนี้ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยสูง โดยจะช่วยเหลือลดภาระการชำระหนี้ ผ่านการลดภาระผ่านชำระ 3 ปี เหลือ 70% และลดดอกเบี้ยลง 10% (เช่น จากเดิน ดอกเบี้ย 25% ต่อปี จะลดเหลือ 15% ต่อปี) ตลอดระยะเวลา 3 ปี และได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ผ่อนปรน ทั้งนี้ หากลูกหนี้มีสถานะเป็น NPL และมียอดคงค้างไม่เกิน 5,000 บาท สามารถเปลี่ยนสถานะปิดจบหนี้ได้
• บรรเทาค่าใช้จ่ายผู้สูงอายุ ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ได้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 จำนวน 4 ล้านคน ที่มีเงินได้ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี และเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท จะได้รับเงินจำนวน 10,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ
• การลดภาษีสถานบริการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและสนับสนุนการจ้างงาน
ในปี 2568 สถานบริการทั่วประเทศจะได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 10% เป็น 5% ของรายรับ เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และกระตุ้นการท่องเที่ยวและการจ้างงานในพื้นที่
• โครงการช่วยเหลือชาวนา “ไร่ละพัน”
เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จะได้รับเงินไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกข้าว ส่งเสริมให้การผลิตข้าวมีความคุ้มค่าและเพิ่มผลกำไร โดยเกษตรกรสามารถตรวจสอบการโอนเงินได้ผ่านแอปพลิเคชั่น BAAC Mobile ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชี ธ.ก.ส. ในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
o พื้นที่ภาคเหนือ วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2567
o พื้นที่ภาคกลางและตะวันออก วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2567
o พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2567
o พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567
o พื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2567
นอกจากนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจในสังกัดของกระทรวงการคลังทุกแห่งยังได้ร่วมมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนอีกมากมาย อาทิ
- ธนาคารออมสิน มอบเงินรายละ 1,000 บาท ให้แก่ลูกหนี้ดี มีวินัย ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 2 แสนบาท และมีประวัติการชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 3 ปี ติดต่อกัน และมีสถานะบัญชีปกติ
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มอบโครงการสินเชื่อแทนคุณ สำหรับทายาทเกษตรกรที่ประกอบอาชีพต่อจากครอบครัว จะได้รับดอกเบี้ยพิเศษ และยกเว้นค่าธรรมเนียม รวมถึงลดเบี้ยปรับค้างรับ
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้กำลังใจแก่ลูกค้าวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีประวัติผ่อนดีไม่น้อยกว่า 4 ปี และมีสถานะบัญชีปกติ จะได้รับเงินคืนรายละ 1,000 บาท
- ธนาคารเพื่อการส่งออกนำเข้าแห่งประเทศไทย มอบดอกเบี้ยพิเศษ 3.5% ต่อปี ใน 2 ปีแรก สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายกำลังการผลิต ต่อเติมซื้อคเรื่องจักร ติดตั้งระบบ Solar หรือยกระดับการทำงานด้าน ESG โดยให้วงเงินกู้สูงสุด 40 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มอบส่วนลดค่าวิเคราะห์โครงการ ล้านละ 5,000 บาท เมื่อยื่นขอกู้ 1 ล้านบาทขึ้นไป ระหว่างวันที่ 2 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568 และได้รับการอนุมัติภายใน 31 มีนาคม 2568
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มอบอัตรากำไรพิเศษ 1.63 ต่อปีในครึ่งปีแรก สำหรับสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ “ไอแบงค์รับจบ” โดยให้ผ่อนนานสูงสุด 35 ปี สำหรับไถ่ถอนที่อยู่อาศัยหรือไถ่ถอนสินเชื่ออเนกประสงค์ ภายใน 31 มกราคม 2568
- บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม มอบของขวัญฟรีค่าดำเนินการค้ำประกันแก่ลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 ระหว่างวันที่ 1 – 31 มกราคม 2568 และขยายเวลาโครงการ “หนี้ลด หมดเร็ว ปลดหนี้” ไปถึงสิ้นปี 2568 พร้อมเงื่อนไขผ่อนปรนมากขึ้น เช่น กลุ่มเปราะบาง ที่มียอดเงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 0% ผ่อนสูงสุดได้ 80 เดือน ค่างวดขั้นต่ำ 500 บาท และปลดหนี้ลดเงินต้น 30% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 6 งวด
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการของกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจในสังกัดของกระทรวงการคลัง นอกจากจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและสร้างความสุขให้กับประชาชน ยังจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีใหม่ พ.ศ. 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้
ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง โทร. 02 126 5800 ต่อ 2221, 2200
ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 8000 หรือ 1115
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000
ธนาคารเพื่อการส่งออกนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 169 9999
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 2653345 หรือ 1302
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 264 3345 หรือ 1302
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999