โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สายหลัก (สายเหนือ-อีสาน-ตะวันออก-ใต้) จะเริ่มลงมือทำตั้งแต่ปี 56 ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ติดหล่ม “ถนนลูกรัง” รวมทั้งม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯ จนลุกลามไปสู่การล้มเลือกตั้ง และรัฐประหารในเดือน พ.ค. 57
รถไฟความเร็วสูงสายแรก คือ กรุงเทพฯ-หนองคาย ช่วงที่ 1 ระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีการวางศิลาฤกษ์ลงมือก่อสร้างในยุครัฐบาลทหาร (คสช.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 60 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน
…
โครงการนี้เป็นเมกะโปรเจ็คต์โครงการที่ 2 ที่อนุมัติและลงมือก่อสร้างในยุครัฐบาล คสช. โดยโครงการแรก คือ มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) เริ่มลุยมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 58 จนป่านนี้ทั้งเพิ่งงบประมาณเข้าไปอีกหลายพันล้านบาท และขยายเวลามาแล้ว ยังไม่รู้ภายในปี 68 จะเปิดให้รถวิ่งบนถนน M6 ได้ตลอดทั้งสายหรือไม่
วกกลับมาที่การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. วงเงินก่อสร้าง 179,412 ล้านบาท หลังจากโครงการได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60
ล่าสุด วันที่ 2 ม.ค. 68 “เสือออนไลน์” ทราบข่าวจากคนในการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่าโครงการนี้มีความคืบหน้าการก่อสร้าง โดยรวมประมาณ 38-39% ล่าช้าจากแผนงานประมาณ 39-40% จากการก่อสร้างทั้งหมด 14 สัญญา โดยมี 2 สัญญาที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. และช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม.
ส่วนอีก 12 สัญญา มี 10 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง อีก 2 สัญญา ยังติดปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างอีกไม่เกิน 3-4 ปี โดยตั้งเป้าสร้างเสร็จภายในปี 71
“เสือออนไลน์” คุยกับวิศวกร และผู้คนในวงการรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ บอกว่าค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้ แพงกว่ายุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ต่ำกว่า กม.ละ 100 ล้านบาท ทั้งโครงการแพงกว่ากันประมาณ 25,000 ล้านบาท ถ้าลงมือสร้างตั้งแต่ช่วงปี 56-57 จะมีตัวเลือกมากกว่านี้ ไม่ว่าจะรถไฟความเร็วสูงจากฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และคงเปิดวิ่งให้บริการไปหลายปีแล้ว
“เสือออนไลน์” เคยไปเที่ยวเมืองจาการ์ต้า-บันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 59 สภาพการจราจรติดขัดหนัก ระยะทางไม่ถึง 200 กม. ต้องใช้เวลาอยู่บนท้องถนนนานกว่า 4 ชม.
อินโดนีเซียจึงลงมือสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรก จาการ์ต้า-บันดุง ระยะทาง 142 กม. ในปี 60 และเปิดให้บริการกับประชาชนไปแล้วเมื่อกลางปี 66 ถือเป็นรถไฟความเร็วสูง (350 กม./ชม.) สายแรกในย่านอาเซียน
ส่วนรถไฟความเร็วสูงของไทย คิดจะทำก่อนใครเพื่อน! แต่ติดปัญหาทางการเมือง มีม็อบชัตดาวน์เมืองหลวง และปัญหาถนนลูกรังที่ยังไม่หมดไปจากประเทศ แต่มาเริ่มสร้างในยุครัฐบาล คสช. จึงแพงกว่ากันเยอะ แถมล่าช้ามากๆ ปี 71 จะสร้างเสร็จหรือเปล่า ยังไม่รู้เลย!
เสือออนไลน์