เรียกเสียงขานรับกระหึ่มเมือง!
กับเรื่องที่ รมต.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เตรียมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ ให้ค่ายมือถือและธนาคารต้องร่วมรับผิดชอบ หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน
หลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลสิงคโปร์นำร่องทำคลอดกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้นำร่องไปแล้ว และเตรียมบังคับใช้กฎหมายให้ธนาคารและค่ายมือถือร่วมรับผิดชอบหากลูกค้าโดนหลอก
กระทรวงดีอีเราจึงอยากโชว์พาว ให้ชาวโลกได้ประจักษ์ว่า เมืองไทยเราก็มีการดำเนินการในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยจะเป็นการแก้ไขพระราชกำหนด (พรก.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านไซเบอร์ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
นัยว่า รายละเอียดการแก้ไขพระราชกำหนดดังกล่าว ครอบคลุมหลายเรื่อง โดยมาตรการแรก การมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบของแบงก์พาณิชย์และโอเปอเรเตอร์ มาตรการที่สอง คือการจ่ายเงินคืน และ มาตรการที่สาม เพิ่มโทษผู้กระทำความผิด
ส่วนรายละเอียดการคืนเงินให้กับผู้เสียหายอยู่ระหว่างการพูดคุย ยังไม่มีกำหนดและเรื่องนี้ ไม่ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา ดีอีและรัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลย ตนเองกำลังเร่งรัดในเรื่องนี้อยู่
“ถ้าเราออกมาตรการไปแล้ว หากโอเปอร์เรเตอร์และธนาคารไม่ปฏิบัติตาม ทำให้เกิดความเสียหาย ต้องมีส่วนร่วมในเงินที่ประชาชนเสียไป” นายประเสริฐกล่าว...
(อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/politics/news_4961531)
ช่วงที่กระทรวงดีอี ตีปี๊บการยกร่างแก้ไขกฎหมายไซเบอร์ฉบับนี้ เป็นจังหวะเดียวกับที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองร่วมกันจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ภายในห้องพักคอนโดมิเนียมย่านพระราม 9 และตรวจยึด "ซิมบ๊อก" จำนวน 286 เครื่อง กับซิม SIM มือถืออีกร่วม 3 แสนชิ้น
นัยว่า จากการตรวจสอบพบว่า ซิมการ์ดเหล่านี้เป็นของค่ายยักษ์ทรูซึ่งฝ่ายบริหารทรูคอร์ปก็ชิงออกโรงร่อนหนังสือชี้แจงต่อสาธารณะทันทีทันใดว่า
ซิมการ์ดที่ปรากฏในข่าว ไม่ได้มาจากบริษัทนะ แต่มาจาก "กระบวนการกว้านซื้อซิม" จากร้านค้าย่อยจำนวนมาก หาใช่การซื้อบิ๊กล็อตจากผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว และซิมทั้งหมดยังไม่ได้มีการลงทะเบียนเปิดใช้งานแต่อย่างใด
พร้อมกับยืนยัน ทางบริษัทได้ประสานกับทางตำรวจเพื่อส่งทีมเข้าตรวจสอบสแกนซิมทั้งหมด เพื่อให้ทราบแหล่งที่มา และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลเพื่อให้ข้อมูลและสนับสนุนการดำเนินการสืบสวนสอบสวนหากได้รับการร้องขอ
ก่อนจะตีปี๊บว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ติดตั้งวางระบบสกัดแก๊งคอลฯ ที่ว่านี้อย่างไรบ้าง มีการวางระบบป้องกันอย่างไรบ้าง บลาๆๆๆๆ
ทำเอาหลายฝ่ายงงเป็น "กุ้งยิง" หรือไก่ตาฟางไปเลย ถ้าวางระบบป้องกันได้ดิบดีซะขนาดนั้น ซิมจำนวนนับแสนใบคงไม่โผล่ไปอยู่ในมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์กระจอกๆ อย่างนี้ได้แน่
ไม่แปลกใจเลยที่ "หนุ่ม เมืองจันทน์" จะออกมาค่อนแคะ ภายหลังที่ได้รับฟังคำชี้แจงของผู้บริหารทรูคอร์ปอเรชันว่า หากเป็นการกว้านซื้อซิมการ์ดจากผู้ค้ารายย่อยจริง แก๊งคอลเซ็นเตอร์รายนี้ จะต้องระดมคน ระดมหน้าม้า กี่ร้อยกี่พันคน ถึงจะกว้านซื้อซิมการ์ดเป็นแสนใบมาอยู่ในมือได้
มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ที่แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้คงไม่ทิ้งร่องรอยอะไรแบบนี้ไว้แน่ ต้องซื้อบิ๊กล็อตจากเอเย่นต์ใหญ่ไม่กี่รายนั่นแหล่ะ และต้องพัวพันกับนักท่องเที่ยวจีนนี้ด้วยเป็นหลัก
สำคัญอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกล้าเปิดโปงหรือสอบในเชิงลึกไหม (แต่เดาว่าคงไม่กล้า เพราะขนาดกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ ที่ว่าแน่ ยกพลขึ้นบกบุกบริษัทแม่ "แม็คโคร" สอบขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนมาแล้ว ยังจ๋อยจนวันนี้)
พร้อมกลับส่งต่อข้อมูลดังกล่าว ไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งกระทรวงดีอี และโดยเฉพาะหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ที่น่าจะมีข้อมูลอยู่ในมืออยู่แล้วว่า ซิมการ์ดเหล่านี้มาจากแหล่งใดบ้าง สามารถจะตรวจสอบย้อนกลับไปได้ไม่ยากว่า ซิมการ์ดเหล่านี้กระจายไปอยู่ผู้ค้ารายใด และเหตุใดจึงมาบรรจุตัวอยู่ในกำมือของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ว่านี้ได้
ส่วนเรื่องที่รัฐจะให้โอเปอเรเตอร์มือถือ และแบงค์ต้องร่วมรับผิดชอบหากแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรไปหลอกลวงผู้คนดูดเงินเกลี้ยงกระเป๋าเกลี้ยงบัญชีอะไรนั้น หลายฝ่ายแสดงความห่วงใย ระวังจะเป็น "ดาบสองคม" ที่ทำให้การให้บริการ Mobile Banking ถูกลอยแพ กลับไปให้บริการหน้าเคาน์เตอร์เอาได้
แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก การที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ ยังคงสามารถใช้เล่ห์เพทุบายหลอกดูดเงินจากกระเป๋าได้นั้น ก็เพราะช่องโหว่ต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว ขนาดระดับนางงามร้อยเวที ยังโดนล้วงตับกันมาแล้วทั้งที่รู้ตัวตลอด
อย่าว่าแต่การหลอกลวงทางโมบายโทรศัพท์มือถือเลย ขนาดประชาชนคนเดินดินธรรมดายังถูกบริษัทจัดหางานทิพย์ หลอกไปทำงานเกษตรที่ออสเตรเลียล่าสุดถึง 250 คน พามาปล่อยเกาะที่สนามบินสุวรรณภูมิกันดื้อๆ ก็มีให้เห็น
แบบนี้จะโทษว่าเป็นความบกพร่องของใครกัน! เพราะงั้นจะเอาแต่กฎหมายมาไล่จับ ไล่ฟัดอยู่อย่างนี้ ไม่มีทางตามทันได้แน่ รังแต่จะสร้างความยุ่งยากให้ผู้คนเสียมากกว่า
การสร้างความเข้าใจ รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่างหาก คือสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตอกย้ำให้ประชาชนได้ตระหนัก ต่อให้เป็นดาราใหญ่ดาราเซเลบ ผู้มีชื่อเสียงระดับรัฐมนตรี หากไม่ได้รู้จักมักจี่ จะโทรมาอ้อนวอน ชักชวนลงทุนอย่างไร ก็ต้องคิดไตร่ตรองกันให้ดี เงินในบัญชีของเราแท้ๆ จะให้ใครไปง่ายๆ ได้อย่างไร?
ว่าแต่หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ไม่คิดจะลุกขึ้นมา "ฟ้อนเงี้ยว" ไล่บี้ซิมมือถืออื้อฉาวที่ไปโผล่ในมือแก๊งคอลฯ ได้อย่างไรบ้างหรือ?
แก่งหิน เพิง