ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2568 วันที่ 8 มกราคม 2568 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเลขานุการการประชุมฯ
ทั้งนี้ กพอ. ได้พิจารณา และมีมติในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้..
1. เห็นชอบในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการขยายเพิ่มเติมพื้นที่ การเปลี่ยนแปลง และการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 เพิ่มเติมพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ประมาณ 714 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของของกองทัพเรือ เพื่อให้เขตส่งเสริมฯ ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งได้ปรับการออกแบบเพื่อเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางการบินบริเวณด้านเหนือ (เขาโกรกตะแบก) และเพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติการบินและเดินอากาศ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน
1.2 การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยขยายเจตนารมณ์ของโครงการที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม จากเดิม “ระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype development)” เพิ่มเติมเป็น “ระดับการผลิตเชิงพาณิชย์หรือการใช้งานต่อเนื่อง (Product on shelf)” ซึ่งเป็นระดับที่ผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการผลิตต้นแบบทดสอบ ทดลอง และผลิตเชิงพาณิชย์ที่มีคุณภาพพร้อมส่งมอบต่อผู้บริโภค ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่มีการผลิตสะอาดมลพิษต่ำ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพ เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการปรับแผนผังการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ใหม่ดังกล่าว จำนวนเนื้อที่ประมาณ 975 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,454 ไร่ โดยคาดว่าจะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น การพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนและภาคธุรกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น
1.3 การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เนื้อที่ประมาณ 1,172 ไร่ บริเวณตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขยายตัวและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา โดยคาดว่าจะมีการลงทุนในพื้นที่ประมาณ 156,000 ล้านบาท รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศโดยการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากผู้ผลิตภายในประเทศในสัดส่วนถึงร้อยละ 90 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายในพื้นที่โครงการ สร้างโอกาสด้านอาชีพผ่านการจ้างงานอีกประมาณ 20,000 คน และสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อเนื่องให้แก่ชุมชนในพื้นที่ เช่น ร้านค้า โรงแรม หอพัก ฯลฯ ถือเป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ
2. นอกจากนั้น กพอ. ได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และการหารือร่วมกันเพิ่มเติมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ครั้งนี้ ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการนี้ และได้มอบหมายให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อ 21 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (EEC Track) ซึ่งเป็นไปตามที่ได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว
ทั้งนี้ ในการดำเนินการต่อไป รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา หลังจากนั้น รฟท. จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายัง สกพอ. เพื่อเสนอให้ กพอ. และ ครม. พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข โดย รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ ครม. เห็นชอบ และ รฟท. จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ได้ทันที คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2568