คงสมใจ! กลุ่มก๊วนที่ชอบข้องแวะ แซะ! ครอบครัว “ชินวัตร” กรณีเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟอัลไพน์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และหมู่บ้านจัดสรรที่อยู่ติดกับสนามกอล์ฟดังกล่าว
16 ม.ค. 68 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เปิดเผยกรณี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต รมช.มหาดไทย เซ็นคำสั่งเพิกถอนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ กลับคืนเป็นที่ธรณีสงฆ์ ว่านายชาดาได้เซ็นให้กรมที่ดินปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด และได้ลงนามก่อนพ้นตำแหน่ง แต่นายชาดาไม่มีอำนาจในการเพิกถอน เพราะเป็นอำนาจของรองปลัดกระทรวง (นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์) ซึ่งจะต้องพิจารณาเรื่องข้อกฎหมาย
โดยมาถึงจุดที่เป็นดุลยพินิจของนายชำนาญวิทย์ หากไม่ดำเนินการก็จะผิดตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีเวลาถึงเดือน ก.พ.68 ก่อนจะเกษียณราชการ และไม่มีทางออก เพราะเงื่อนไขถูกล็อคมาตามแนวทางของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จะต้องเพิกถอนกรรมสิทธิ์การออกเอกสารสิทธิ์ของที่ดินอัลไพน์เป็นโมฆะ และที่ดินกลับไปเป็นที่ธรณีสงฆ์
ถ้ารองปลัดฯ ให้เพิกถอนที่ดิน ผู้เสียหายที่ไม่พอใจก็ไปร้องต่อศาลเป็นรายบุคคลไป โดยกรมที่ดินจะหนักหน่อย เพราะเป็นผู้เก็บค่าธรรมเนียม และออกโฉนดให้แก่ประชาชน หากเกิดอะไรขึ้น กรมที่ดินจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนใครจะถูกจะผิด ต้องไปไล่เบี้ยกัน
หากต้องชดเชยที่ดินตรงนั้นตอนนี้ไร่เป็นล้านบาทอยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่เป็นพื้นที่ชนบท แต่ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เมืองทั้งหมดแล้ว ก็ต้องไปฟ้องกัน
“เสือออนไลน์” มองย้อนอดีต 1. นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ยกที่ดิน 2 แปลง รวม 924 ไร่ ใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ให้กับวัดธรรมิการามฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2512 (วัดอยู่ห่างจากที่ดินกว่า 300 กิโลเมตร) โดยมีการระบุไว้ในพินัยกรรม ว่า หากวัดไม่รับโอน หรือโอนไม่ได้ ก็ให้มูลนิธิมหามกุฎฯ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก จัดการจำน่าย จ่าย โอน ที่ดินมรดกให้แก่วัด
2. วัดธรรมิการามฯส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2531 เรื่อง “ขออนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินของวัด” หลังปี 2514 นางเนื่อมถึงแก่กรรม ที่ดินจึงตกเป็นของวัด
3. วัดไม่ต้องการรับโอนที่ดินดังกล่าว ด้วยหลายเหตุผล ทั้งกรณีวัดมีที่ดินเกิน 50 ไร่อยู่แล้ว และพบว่าที่ดินอยู่ไกลคนละจังหวัด การดูแลทำได้ลำบาก สภาพที่ดินส่วนหนึ่งเกือบ 500 ไร่ ถูกคนลักลอบจุดหน้าดินไปขาย อีกส่วนหนึ่งเกือบ 500 ไร่ ถูกชาวบ้านบุกรุก และหากจะโอนมาเป็นชื่อวัดต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนและเสียภาษีรายปีอีกจำนวนมาก
4. มีความย้อนแย้งในข้อกฎหมายหรือไม่? หากจะรับโอนที่ดินมาเกิน 50 ไร่ ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก่อน จึงจะกลายเป็นธรณีสงฆ์ ขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้เมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิต มรดกต้องตกแก่ทายาทที่ระบุไว้ตามกฎหมาย นั่นคือวัดธรรมิการามฯ จึงทำให้ที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์โดยทันที ตั้งแต่นางเนื่อมเสียชีวิต
5. ต่อมามูลนิธิมหามกุฎฯในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ขายที่ดินให้กลุ่มนายเสนาะ เทียนทอง กับนักการเมืองใน จ.ปทุมธานี ด้วยมูลค่าที่ดินกว่า 100 ล้านบาท นำไปพัฒนาเป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์ และหมู่บ้านจัดสรร
6. เมื่อเจอพิษต้มยำกุ้ง กลุ่มนายเสนาะแบกภาระไม่ไหว จึงขายต่อให้ครอบครัวชินวัตร ช่วงปี 40-41 ประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นได้มีประชาชนเข้ามาซื้อที่ดิน-บ้านในโครงการจัดสรรนับ 100 ครอบครัวอยู่แล้ว
7. ครอบครัว “ชินวัตร” จึงเป็นผู้เสียหายด้วย! เพราะเข้าไปซื้อโครงการจัดสรร และสนามกอล์ฟหลังจากสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการแล้ว คือตกที่นั่งเดียวกันกับประชาชนที่เข้าไปซื้อที่ดิน-บ้านในโครงการดังกล่าว
8. งานนี้ต้องจ่ายค่าชดเชยกันให้วุ่นไปหมด! โดยมีครอบครัวชินวัตร กับกลุ่มประชาชนที่ซื้อบ้านและที่ดินตกเป็นผู้เสียหาย โดยกลุ่มนายเสนาะต้องคืนเงินให้ครอบครัวชินวัตรหรือไม่?
รวมทั้งวัดธรรมิการามฯ ต้องคืนเงินค่าที่ดินให้กลุ่มของนายเสนาะหรือเปล่า? แล้ววัดจะบริหารจัดการผลประโยชน์บนที่ดินอัลไพน์ที่อยู่ห่างกัน 300 กิโลเมตร ได้อย่างไร? ต่อๆ ไปเงินวัดจะรั่วไหล หรือจะมีใครอมเงินวัดหรือไม่?
ดังนั้น กลุ่มก๊วนที่ชอบทำให้ยุ่งและวุ่นวาย ตอนนี้กรณีที่ดินอัลไพน์จึงเริ่มเข้าสู่โหมดยุ่งๆ และวุ่นวาย โดยมีใครตกเป็นผู้เสียหายบ้าง ก็ไปพิจารณากันเอาเอง!
เสือออนไลน์