แม้ว่า นโยบายบ้านเพื่อคนไทยจะถูกจองอย่าล้นหลามกว่า 150,000 ราย ล่าสุดคัดกรองคุณสมบัติแล้วเหลือ 46,000 กว่าราย และต้องใช้วิธีจับฉลากหาคนโชคดีได้สิทธิ์จองบ้านในโครงการดังกล่าว
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่า กทม. ในฐานะวิศวกรผู้เชี่ยวโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ สะท้อนอีกมุมที่น่าสนใจ..
น่าดีใจที่รัฐบาลกำลังจะสร้างที่อยู่อาศัยให้คนไทยโดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน โดยพยายามหาพื้นที่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าเพื่อจะได้ใช้รถไฟฟ้าเดินทางไปทำงาน ทั้งนี้ รัฐบาลจะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เหลือ 20 บาทตลอดสาย ทุกสายทุกสี ทำให้โครงการนี้มีดีที่ราคาที่พักอาศัยซึ่งคนเพิ่งเริ่มทำงานสามารถจ่ายได้ และสามารถเดินทางไปทำงานในเวลาที่กำหนดได้ด้วยรถไฟฟ้าค่าโดยสารไม่แพง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่ต้องเป็นห่วงว่า “บ้านเพื่อคนไทย” จะเป็นไปตามที่หลายคนวาดฝันไว้หรือไม่ ?
นอกจากปัจจัยด้านราคาและความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางแล้ว หลายคนจับจอง “บ้านเพื่อคนไทย” ด้วยความหวังว่าจะได้ที่พักอาศัยที่มีคุณภาพดี มั่นคงแข็งแรง มีสิ่งแวดล้อมดี ไม่เป็นแหล่งมั่วสุม ไม่เป็นแหล่งอาชญากรรม และมีการบริหารจัดการที่ดีทั้งเรื่องเพื่อนบ้านที่ดี เคารพกฎกติกาของสังคม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดและปลอดภัย
ด้วยเหตุนี้ แม้ว่า “บ้านเพื่อคนไทย” เป็นโครงการที่ดี แต่ก็ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วง ดังนี้
(1) รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสายทุกสี จะทำได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ? รัฐจะมีเงินชดเชยให้เอกชนผู้รับสัมปทานจนสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานหรือไม่ ? อย่าลืมว่า “บ้านเพื่อคนไทย” เป็นโครงการที่ต้องพึ่งพารถไฟฟ้าราคาถูก นับเป็นการพัฒนาเมืองกับทางรถไฟในเชิงบูรณาการ (Integrated Urban and Railway Development) ซึ่งใช้กันมากในการพัฒนาเมืองใหม่ในประเทศญี่ปุ่น
(2) บ้าน หรือ คอนโด ในโครงการนี้มีความมั่นคงแข็งแรงตามที่ออกแบบไว้หรือไม่ ? หากก่อสร้างตามสเปกที่กำหนดไว้ในแบบก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีการลดสเปกลงก็น่าเป็นห่วง ดังนั้น ผู้รับผิดชอบจะต้องควบคุมการก่อสร้างอย่างเข้มงวดกวดขัน ไม่ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด
(3) มีสิ่งแวดล้อมดีหรือไม่ ? การเลือกพื้นที่ที่จะสร้างที่พักอาศัยจะต้องคำนึงถึงพื้นที่ใกล้เคียงด้วย จะต้องไม่เป็นแหล่งมั่วสุม แหล่งอาชญากรรม ถ้าพื้นที่ใกล้เคียงเป็นแหล่งดังกล่าว จะต้องแก้ไขให้ได้
(4) มีการบริหารจัดการที่ดีหรือไม่ ? ถ้าดี จะทำให้ผู้อาศัยเคารพกฎระเบียบ ช่วยกันรักษาความสะอาด ทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เป็นแหล่งมั่วสุม แหล่งอาชญากรรม
ในการบริหารจัดการพื้นที่ใกล้เคียง ผมขอเสนอแนะให้รัฐนำ “พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่” ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 มาใช้ให้เกิดประโยชน์
การจัดรูปที่ดินเป็นวิธีการที่ทำให้เจ้าของที่ดินทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม โดยมีการจัดแบ่งแปลงใหม่ให้มีรูปร่างที่เหมาะสม ไม่เป็นเสี้ยว ไม่เป็นชายธง ไม่เป็นพื้นที่ตาบอด มีถนน ระบบระบายน้ำ สวนสาธารณะ โรงเรียน สถานพยาบาล และระบบสาธารณูปโภคอื่นที่จำเป็นอย่างเพียงพอตามมาตรฐาน เจ้าของที่ดินทุกคนจะต้องสละที่ดินส่วนหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับระบบสาธารณูปโภค และอีกส่วนหนึ่งสำหรับแบ่งขาย เงินที่ได้จากการขายที่ดินจะนำไปใช้ในการจัดหาระบบสาธารณูปโภค โดยภาครัฐจะให้เงินช่วยเหลือด้วย หากมีเงินเหลือก็แบ่งให้เจ้าของที่ดินตามสัดส่วนที่เสียสละให้
ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีที่อยากเห็นคนไทยมีที่อยู่อาศัยที่ดี ได้มาตรฐาน ได้อยู่อาศัยร่วมกันอย่างมีความสุขครับ