บอร์ด กสทช. ทำพิลึก เลื่อนทำคลอดกฎเหล็กสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทั้งที่เป็นวาระแห่งชาติ วงในชี้มือที่มองไม่เห็น invisible hand ชักใย หวังปกปิดปล่อยซิมผีทะลัก!
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณามาตรการรองรับเพื่อสกัดกั้น "แก๊งคอลเซ็นเตอร์และและขบวนการสแกมเมอร์" ที่กำลังเป็นปัญหาอาชญากรรมระดับโลก จนถึงขั้นที่ทางการจีน ขอความร่วมมือมายังรัฐบาลไทย ให้เร่งหามาตรการปราบปราม และตัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้แก่ขบวนการนอกกฎหมายเหล่านี้ ทั้งน้ำ ไฟ และสัญญานโทรศัพท์ โดยในส่วนของคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นั้นเตรียมทำคลอดมาตรการสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีการเห็นชอบในหลักการเบื้องต้นไปแล้วก่อนหน้าเพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว
โดยประเด็นที่คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม บอร์ด กสทช. วันนี้ ได้แก่ การปรับปรุง (ร่าง) แนวปฏิบัติการลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ(ร่าง) ข้อกำหนดการใช้เทคโนโลยีชีวิมิติ หรือ Biometrics สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคล รวมทั้งพิจารณามาตรการที่ได้มีการกำหนดไว้เบื่องต้นก่อนหน้า ประกอบด้วย
1. ผู้ที่ซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์ หรือซิมอินเทอร์เน็ต ต้องสแกนใบหน้าทุกครั้ง / ยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ หรือ ไบโอเมทริกซ์
2. การถ่ายภาพ จะต้องมีระบบ Liveness Detection (ไลฟ์เนส ดีเทคชั่น) คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจสอบว่าบุคคลที่ปรากฏอยู่ในภาพหรือวิดีโอนั้นๆ เป็นคนที่มีชีวิตอยู่จริง โดยใช้การตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตา กะพริบตา อ้าปาก หันซ้ายหันขวา เช่นเดียวกับมาตรการของธนาคารที่ทำโมบายแบงกิ้ง
3. คนต่างด้าว เช่น แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ต้องการจะซื้อซิม ต้องลงทะเบียนด้วยพาสปอร์ตเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้บัตรแรงงานต่างด้าว
4. กำหนดให้ซื้อซิมได้สูงสุด 3 ซิมต่อคนต่อค่าย
5. สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้งานซิมได้ไม่เกิน 7 วัน หากต้องขยายเวลา ขยายได้ไม่เกิน 60 วัน โดยยึดตามระยะเวลาที่กฎหมายอนุญาตให้ท่องเที่ยวหรือพำนักในประเทศไทยสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้ Visa on Arrival คือไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งมีทั้งหมด 93 ประเทศ ให้อยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน 60 วัน
อย่างไรก็ตามที่ บอร์ด กสทช. ในวันนี้กลับไม่มีวาระหารือหรือพิจารณาลงมติเกี่ยวกับมาตรการเหล่านี้ เพื่อออกประกาศหลักเกณฑ์ข้อบังคับของ กสทช. ออกมาให้สอดรับกับการเร่งแก้ไขพระราชกำหนดการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ พ.ร.ก.ไซเบอร์ ที่เพิ่งผ่านควาทเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปวันก่อน ทั้งที่กรณีดังกล่าวถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องเร่งรัดพิจารณาออกมา ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์กันว่า มี “มือที่มองไม่เห็น” Invisible Hand ดึงเรื่องสำคัญนี้ออกจากวาระการประชุมบอร์ดหรือไม่ หรือเพราะเกรงใจผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่ที่จะออกมา